แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยที่ 3 ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศ และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยที่ 3 จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 3 แม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474มาตรา 41 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้
เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 เป็นรูปคนขี่ม้าตีคลีอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า GALLOP รูปคนขี่ม้าตีคลีเป็นสิ่งสาระสำคัญในการสังเกตจดจำของบุคคลทั่วไปเพราะมีขนาดใหญ่และเห็นเด่นชัดกว่าตัวอักษรคำว่า GALLOP มาก รูปลักษณะคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 ก็คล้ายคลึงกับรูปคนขี่ม้าตีคลีของโจทก์ เครื่องหมาย-การค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีของจำเลยที่ 3 จึงคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์เป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีกับสินค้าเครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกายและสินค้าอื่นอีกหลายชนิดที่ประเทศต่าง ๆ หลายสิบประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาก่อนจำเลยที่ 3 สินค้าของโจทก์ก็มีบริษัทซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้สั่งมาขายที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานครหลายแห่งรวมทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย และได้มีการโฆษณาสินค้าของโจทก์ในนิตยสารหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยแพร่หลายมาเป็นเวลานานปีแล้ว การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนขี่ม้าตีคลีเพื่อใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ โดยประสงค์จะฉวยโอกาสแอบอิงเครื่องหมายการค้าของโจทก์แสวงหาประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าของจำเลย การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสียหาย เพราะผู้ซื้อหรือใช้สินค้านั้นอาจหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 3 เป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิจะทำได้
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า THE POLO LAUREN COMPANY ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ห้างหุ้นส่วน-จำกัดเดอะโปโล ลอเรน คัมปะนี โจทก์ประกอบการค้าโดยส่งสินค้าไปจำหน่ายตามประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย สินค้าที่จำหน่ายได้แก่เครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกายและสินค้าอื่น ๆ ส่วนจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าบริษัทโปโล ช้อปปิ้ง เฮ้าส์จำกัด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า POLO SHOPPING HOUSE CO.,LTD. และใช้ชื่อร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ว่า POLO SHOPPING HOUSE ประกอบกิจการค้าขายสินค้าหลายชนิด รวมทั้งเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายเช่นเดียวกับโจทก์ ชื่อของจำเลยที่ 1 รวมทั้งชื่อร้านค้าดังกล่าวก็มีความหมายว่า เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้ายี่ห้อหรือตรา POLO หรือโปโล ซึ่งคำว่า POLO หรือโปโลนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโจทก์ รวมทั้งเป็นคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งใช้แพร่หลายอยู่ทั่วโลกดังกล่าวมาข้างต้น นอกจากนั้นจำเลยยังใช้คำ POLO ให้ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในดวงตราประทับของจำเลยที่ 1 ใบเสร็จรับเงิน ถุงบรรจุสินค้าและใช้ป้ายซึ่งมีคำ POLO ติดที่สินค้าเสื้อผ้าซึ่งผลิตและจำหน่ายอยู่ในร้านค้าที่ตั้งขึ้นดังกล่าวด้วย ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 คือโจทก์และกิจการร้านค้าของจำเลยที่ 1 เป็นกิจการค้าของโจทก์ เนื่องจากชื่อบริษัทจำเลยที่ 1และร้านค้าดังกล่าวมีคำว่า POLO หรือโปโลอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ใช้ชื่อว่า POLOหรือโปโลมานานจนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และจำเลยได้นำชื่อนี้ไปใช้ในกิจการค้าขายสินค้าเช่นเดียวกับของโจทก์ ส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนานำชื่อ POLO หรือโปโลมาใช้โดยเจตนาไม่สุจริต โดยเจตนาแสวงหาประโยชน์และความนิยมในชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะทำได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ส่งสินค้ามาจำหน่ายที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นสถานที่จำเลยประกอบกิจการค้าอยู่ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย ทั้งกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิมิให้โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศฟ้องคดีต่อศาลในประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
โจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องตามที่โจทก์ฎีกาแล้ว และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาให้เพราะความผิดหลงเนื่องจากศาลอุทธรณ์ระบุคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ครบถ้วน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาบังคับจำเลยที่ 3 เกินไปกว่าที่โจทก์มีคำขอมาทั้งกำหนดให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความแทนโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะคดีทั้งสองสำนวนเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยทั้งสามไม่ได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคสอง