แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช. กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และโจทก์ได้นำสืบถึงการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกที่กระทำแต่ละกรรมอย่างละเอียดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทำความผิดไปได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ช. มีหน้าที่ในการบริหารงานต่าง ๆของบริษัทให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกคำสั่งให้บริษัท ช. ปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในนามของบริษัทและต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทอยู่แล้ว แม้บริษัทจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้รับผิดชอบในแต่ละฝ่ายก็เป็นเรื่องการแบ่งงานภายในของบริษัทเท่านั้น และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่อยู่ปฏิบัติงานที่บริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็หาปฏิเสธความรับผิดต่าง ๆที่เกิดขึ้นแก่บริษัท ช. ที่ตนเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบบริหารงานได้ไม่
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจคณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบได้ หาใช่เป็นบทบังคับให้คณะกรรมการต้องดำเนินการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อคณะกรรมการใช้ดุลพินิจไม่เปรียบเทียบก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพึงกระทำได้ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายทั้งการที่คณะกรรมการไม่ยอมเปรียบเทียบก็หาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 144 ไม่เพราะการเปรียบเทียบกรณีนี้มิได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 144 หาได้ไม่
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช. กระทำความผิดร่วมกับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯมาตรา 75 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปี จึงมีอายุความสิบปี เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ช. ยังไม่ถึงสิบปี ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการผูกพันบริษัทได้ และบริษัทมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้กู้ยืมหรือให้สินเชื่อ มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานสาขานครหลวงตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยทั้งห้าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัดขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในช่วงระหว่างระยะเวลาที่แต่ละคนเป็นกรรมการบริษัท ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 22 ทวิ, 24, 28, 35, 57, 70 และ 75ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดอัตราส่วนของเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งและหรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้นกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 30 ธันวาคม2523 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2524 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525 ลงวันที่ 12กุมภาพันธ์ 2525 ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 16 มกราคม 2527ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 4 มีนาคม 2530
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ทวิ,24, 28, 35 วรรคหนึ่ง, 57 วรรคหนึ่ง, 70, 75 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 22 ทวิ,75 วรรคหนึ่ง รวม 10 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 60 เดือน ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดและไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง รวม 36 กระทง จำคุกกระทงละ4 เดือน รวมจำคุก 144 เดือน ฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสอง รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ฐานเป็นกรรมการให้กู้ยืมเงินเกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง รวม 6 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 12 ปี ฐานเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง, 75วรรคสอง รวม 24 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 72 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1ทั้งสิ้น 88 ปี 204 เดือน แต่เนื่องจากความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง 5 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 24, 28, 57 วรรคหนึ่ง, 70, 75 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดและไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง รวม 179 กระทง จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 716เดือน ฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสอง รวม 17 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปีรวมจำคุก 34 ปี ฐานเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งสั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง, 75วรรคสอง รวม 104 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 312 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น 346 ปี 716 เดือน แต่เนื่องจากความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง 5 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จึงให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดหลายกระทงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและเสถียรภาพในสถาบันการเงิน นับเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติและส่วนรวมจึงไม่มีเหตุจะลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษให้ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 24, 28, 70, 75 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนตามระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง จำคุก4 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสอง รวม 2 กระทงจำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 200,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ400,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 410,000 บาทจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 24, 28, 70, 75 วรรคหนึ่ง, วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนตามระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 24, 75วรรคหนึ่ง จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสองรวม 30 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 200,000 บาท รวมจำคุก 60 ปีและปรับ 6,000,000 บาท รวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 60 ปี 4 เดือน และปรับ6,010,000 บาท จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 24, 70, 75 วรรคหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 เดือนและปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ร้ายแรงนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวเคยกระทำความผิดใดมาก่อน สมควรให้โอกาสกลับตนประพฤติปฏิบัติในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่สังคมต่อไปจึงให้รอการลงโทษจำคุกแต่ละกระทงของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ไว้ มีกำหนดคนละ2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากจะกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้เป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งห้าปากดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องต้องกันเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ประกอบเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.149 อย่างละเอียดยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 22 ทวิ, 75 วรรคหนึ่ง รวม 10 ครั้ง เป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง รวม 36 ครั้ง เป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสองรวม 2 ครั้ง เป็นกรรมการให้กู้ยืมเงินเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคหนึ่ง รวม 6 ครั้ง และเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง รวม 24 ครั้ง และจำเลยที่ 2 ร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด กระทำความผิดฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนด และไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนและตรงต่อความจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง จำนวน 179 ครั้ง เป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสอง รวม 17 ครั้งและเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งสั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง 75 วรรคสอง รวม 104 ครั้งพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน น่าเชื่อว่าได้เบิกความตามความเป็นจริงตามที่รู้เห็นและเข้าตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด และรายงานตามเอกสารต่าง ๆ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1และที่ 2 ก็นำสืบรับว่า เคยเป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์จำกัด แต่ไม่ได้กระทำความผิดคดีนี้เพราะไม่ได้มาทำงานที่บริษัทดังกล่าวแต่อย่างใดเพียงมาเข้าร่วมประชุมตามที่บริษัทดังกล่าวแจ้งไปเท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับผิดชอบกับกิจการด้านเงินทุนหรือการยื่นเอกสารต่อธนาคารแห่งประเทศไทยการลงลายมือชื่อในเอกสารบางฉบับของบริษัทดังกล่าวก็เป็นเพราะนายศศิพงษ์เทพนิกร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวนำมาให้ลงลายมือชื่อเพื่อให้ครบถ้วนตามอำนาจของกรรมการที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น เห็นได้ว่าแม้จำเลยที่ 1และที่ 2 จะอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรับผิดชอบกับกิจการด้านเงินทุนหรือการยื่นเอกสารต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพียงแต่นายศศิพงษ์ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนำมาให้ลงลายมือชื่อให้ครบถ้วนตามอำนาจของกรรมการ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2ก็เป็นกรรมการของบริษัทซึ่งได้ร่วมกันบริหารงานของบริษัทดังกล่าว จึงย่อมจะต้องรับรู้และรับทราบงานต่าง ๆ ที่จะดำเนินการแต่ละวันว่าจะต้องทำประการใดบ้าง ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติงานของบริษัทดังกล่าวให้ลุล่วงไปแล้ว ยังต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั่งให้บริษัทดังกล่าวรายงานความเป็นไปของการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ด้วยการที่บริษัทดังกล่าวทำบันทึกในบัญชีแยกประเภททั่วไปตามเอกสารหมาย จ.16 ว่า บริษัทดังกล่าวมีพันธบัตรรัฐบาลสูงกว่าจำนวนที่มีอยู่จริงก็ดี ทั้งได้บันทึกในบัญชีแยกประเภททั่วไปและบัญชีเดินสะพัดตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.18 ว่า ได้ขายพันธบัตรรัฐบาลผ่านสาขานครหลวงทำให้ได้กำไรจำนวน 1,800,000 บาทเศษ แต่ปรากฏจากทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเอกสารหมาย จ.20 ไม่มีรายการซื้อขายพันธบัตรของบริษัทดังกล่าวในวันที่ 25 ธันวาคม 2530ก็ดี แสดงว่าบริษัทดังกล่าวบันทึกในเอกสารบัญชีแยกประเภททั่วไปและบัญชีเดินสะพัดโดยไม่เป็นความจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 เองได้ลงลายมือชื่อในเอกสารการอนุมัติบัญชีรายการดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.20 ด้วยก็ดี การที่บริษัทดังกล่าวยื่นรายงานการดำรงฐานะสภาพคล่องตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามแบบ บ.ง.2, บ.ง.3 และ บ.ง.4.2ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เองได้ลงลายมือชื่อในรายงานการดำรงฐานะสภาพคล่องตามแบบ บ.ง.2, บ.ง.3 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นรายงานภาระในภายหน้าเพื่อลูกค้ารายใหญ่ล่าช้าล่วงเลยเวลาที่กำหนดและข้อความในรายงานไม่ครบถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการยื่นรายงานดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ดี ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงบริษัทดังกล่าวให้ยื่นรายงานการรับ-จ่ายเงินประจำวันตามแบบที่กำหนดและงบทดลองประจำวันต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.45 แต่บริษัทดังกล่าวยื่นรายงานและงบทดลองดังกล่าว ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2531 ล่าช้าล่วงเลยเวลาที่กำหนดบ้าง ไม่ยื่นบ้าง รวมถึง 126 ครั้ง โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานดังกล่าว และพิสูจน์ไม่ได้ว่ามิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทดังกล่าวด้วย ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รายงานการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำกว่าอัตราส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดตามเอกสารหมาย จ.137 โดยพิสูจน์ไม่ได้ว่ามิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทดังกล่าวก็ดี และธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดจำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้น เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินกองทุน รายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.54 แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2529 บริษัทดังกล่าวได้ให้บริษัทแดนสวรรค์ จำกัด กู้ยืมเงินรวม 6 ครั้ง แต่ละครั้ง เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละ 30 ของเงินกองทุนตามเอกสารหมาย จ.56 ถึง จ.61ซึ่งแสดงว่ามีการจ่ายเงินกู้ยืมกันไปแล้วจริง จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทดังกล่าวก็ดี การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบฐานะและการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวพบว่ามีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เนื่องจาก ณ วันที่ 30พฤษภาคม 2531 บริษัทดังกล่าวมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือไม่สามารถชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่งบทบัญญัติดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงบริษัทดังกล่าวให้แก้ไขฐานะและการดำเนินงานรวม 7 ข้อตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.6 แต่บริษัทดังกล่าวยังฝ่าฝืนคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2โดยให้ลูกหนี้รายเดิมกู้ยืมเงินรวม 9 ครั้ง กับฝ่าฝืนคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 31โดยให้กู้ยืมเงินและรับอาวัลตั๋วเงินโดยไม่มีทรัพย์สินจำนำหรือจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนรวม 8 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 4 บริษัทดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่กันเงินสำรองกึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่จัดชั้นเป็นสงสัยในระหว่างวันที่ 14ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวตามเอกสารหมายจ.5 ข้อ 6 บริษัทดังกล่าวไม่ดำเนินการให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทยืนยันยอดลูกหนี้ตามมาตรฐานการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของยอดเงินที่ให้กู้ยืมทั้งสิ้น แล้วรายงานผลการยืนยันยอดลูกหนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 1 เดือน นับแต่วันสิ้นงวดการบัญชีเดือนธันวาคม 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งแล้วแต่บริษัทดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ดำเนินการภายในกำหนด บริษัทดังกล่าวยังได้ฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 7ที่ให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติ กล่าวคือ การจ่ายเงินที่มีจำนวนตั้งแต่ 5,000 บาท ขึ้นไปต้องจ่ายโดยออกเช็คสั่งจ่ายเงินโดยขีดคร่อมเช็คพร้อมทั้งระบุข้อความเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวจ่ายเงินจำนวนตั้งแต่ 5,000 บาท ขึ้นไป ให้แก่ผู้รับเงินเป็นเงินสดบ้างเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปบ้าง โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2ลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินนั้น ๆ ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.5ข้อ 1 กำหนดให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้ถูกต้องตามประเภทที่กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยภายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ธันวาคม 2530 แต่บริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำรงสินทรัพย์ส่วนที่เป็นหลักทรัพย์รัฐบาลไทยได้ตามจำนวนที่กำหนดร้อยละ 5.5 ของยอดเงินซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องชำระคืนตามรายงานเอกสารหมาย จ.129 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวต้องมีความผิดตามมาตรา 75 วรรคสอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจพิสูจน์ได้เช่นนั้นการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.129 แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่างรู้เห็นและมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับบริษัทดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์พยานบุคคลและพยานหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบโดยตลอดแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ของโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัดเป็นกรรมการไม่จัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ทวิ, 75 วรรคหนึ่ง รวม 10 กระทง ฐานเป็นกรรมการไม่ร่วมกันยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดและไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนตรงตามความจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง รวม 36 กระทง ฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 28, 75 วรรคสองรวม 2 กระทง ฐานเป็นกรรมการให้กู้ยืมเงินเกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง รวม 6 กระทง และฐานเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั่งให้ดำเนินการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง รวม 24 กระทง และจำเลยที่ 2มีความผิดฐานเป็นกรรมการร่วมกันไม่ยื่นรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดและไม่ยื่นรายงานให้ครบถ้วนตรงความเป็นจริงตามมาตรา 24, 75 วรรคหนึ่ง รวม 179 กระทงฐานเป็นกรรมการไม่ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตามมาตรา 28, 75 วรรคสอง รวม 17 กระทง และฐานเป็นกรรมการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งสั่งให้ดำเนินการแก้ไขและการดำเนินงานตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง รวม 104 กระทง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบมาเลื่อนลอยขาดเหตุผล และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้มานำสืบสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักที่จะพอรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า หากการกระทำที่โจทก์ฟ้องครบองค์ความผิดของกฎหมายอันเป็นความผิดก็เป็นความผิดซึ่งกระทำในลักษณะต่อเนื่องกันอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แม้เป็นความผิดหลายกรรมก็เป็นความผิดเพียง5 กรรมเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและโจทก์ได้นำสืบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ที่กระทำแต่ละกรรมอย่างละเอียดแยกต่างหากจากกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2กับพวกดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัย มิใช่เป็นความผิดเพียง 5 กรรมดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่กรรมการผู้รับผิดชอบตามมาตรา 75 เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ได้ทำงานประจำที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด เมื่อมีการประชุมจึงจะมาร่วมประชุมไม่มีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัทต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบริษัทดังกล่าวแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้จัดการรับผิดชอบและในช่วงเวลาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เดินทางไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และเดินทางไปหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่ในการบริหารงานต่าง ๆของบริษัทดังกล่าวให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ทั้งเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการย่อมจะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งในนามของบริษัท และต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทดังกล่าวอยู่แล้ว แม้บริษัทดังกล่าวจะแบ่งงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ มีผู้รับผิดชอบในแต่ละฝ่ายก็เป็นเรื่องการแบ่งงานภายในของบริษัทเท่านั้นและแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่อยู่ปฏิบัติงานที่บริษัทดังกล่าวก็ตามก็หาปฏิเสธความรับผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่บริษัทดังกล่าวที่ตนเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบบริหารงานของบริษัทได้ไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2มีหนังสือถึงพนักงานอัยการให้เปรียบเทียบ พนักงานสอบสวนจึงส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบ แต่คณะกรรมการเปรียบเทียบไม่ยอมเปรียบเทียบตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 144 พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 79 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้” เห็นได้ว่าบทบัญญัติตามมาตรา 79 วรรคหนึ่งให้อำนาจคณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบได้ หาใช่เป็นบทบังคับให้คณะกรรมการต้องดำเนินการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวใช้ดุลยพินิจไม่เปรียบเทียบก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะพึงกระทำได้หาใช่เป็นการขัดต่อกฎหมายไม่ ทั้งการที่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ยอมเปรียบเทียบก็หาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 144 ไม่ เพราะการเปรียบเทียบกรณีนี้มิได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนพยายามเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 144 หาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด โดยมาตรา 79 ระบุว่า ความผิดตามมาตรา 70หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ซึ่งตามมาตรา 76 ระบุว่า “ความผิดตามมาตรา 70 ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้เปรียบเทียบตามมาตรา 79 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดหรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำผิดเป็นอันขาดอายุความ” คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2535 เป็นเวลาเกินหนึ่งปีนับถึงวันฟ้องคดีนี้ คดีจึงขาดอายุความตามมาตรา 76 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา…มาตรา 22 ทวิ… มาตรา 24… มาตรา 28… มาตรา 35 วรรคหนึ่ง… มาตรา 57… ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท…” และมาตรา 76 บัญญัติว่า “ความผิดตามมาตรา 70 ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา 79 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดหรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ” กับมาตรา 75 บัญญัติว่า “ในกรณีที่บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10… มาตรา 22 ทวิ… มาตรา 24… มาตรา… กรรมการหรือผู้จัดการบริษัทนั้น… ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี…” และมาตรา 75 วรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีบริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20… มาตรา 28… มาตรา 35 วรรคหนึ่ง… มาตรา 57 วรรคหนึ่ง… กรรมการหรือผู้จัดการของบริษัทนั้น…ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองถึงห้าปี และปรับ… เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย…” เห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 70เป็นบทกำหนดโทษแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทแต่อย่างใด อนึ่ง คดีนี้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งได้เปรียบเทียบบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด ไปแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวให้รับผิดตามบทมาตราต่าง ๆ และมาตรา 75 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยให้กรรมการหรือผู้จัดการของบริษัทนั้นรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 75 วรรคหนึ่งบัญญัติให้กรรมการรับผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับ… ส่วนมาตรา 75วรรคสอง บัญญัติให้กรรมการรับผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับ…จะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์จำกัด กระทำความผิดร่วมกับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ตามมาตรา 75 ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หมวดที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องอายุความ บัญญัติว่า “ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด ดังนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ (1)… (3) สิบปีสำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี” ดังนั้น เมื่อความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามมาตรา 75 ต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีจึงมีอายุความสิบปีซึ่งนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ระหว่างวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2531 โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 5สิงหาคม 2539 ยังไม่ถึงสิบปี ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า กรณีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มิใช่เรื่องกรณีร้ายแรง ทั้งข้อบกพร่องต่าง ๆ ของบริษัทดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ก่อนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เชียงใหม่ทรัสต์ จำกัด จะถูกปิดกิจการ ประชาชนมิได้รับความเสียหายยังถอนเงินได้ตามปกติ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 20 ปี โดยไม่รอการลงโทษเป็นการใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่ไม่เหมาะสมเท่าเทียมกับจำเลยที่ 4 ที่ศาลลงโทษจำคุก 60 ปี แต่รอการลงโทษ การที่ศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี โดยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ทั้งจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องหลายกรรมต่างกัน ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 88 ปี 204 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 346 ปี 716 เดือน แต่เนื่องจากความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง 5 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ทั้งความผิดตามที่โจทก์ฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและเสถียรภาพของสถาบันการเงิน นับว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นส่วนรวม ทั้งก่อความไม่สงบและความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ฝากเงินอย่างยิ่งสมควรได้รับโทษสถานหนัก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน