แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าที่ดินเป็นของผู้ใด ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำสืบได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินและสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารทะเบียนการครอบครองที่ดินได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายทีกับนางเสริม ส่วนจำเลยเป็นสามีของนางเสาร์ หลังจากนางเสาร์ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ก่อนที่นางเสาร์จะถึงแก่ความตายได้ขายที่ดินตามทะเบียนการครอบครองที่ดินเลขที่ 81/74 ตำบลเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้แก่นายทีในราคา 2,500 บาท จากนั้นนายทีและโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอด ต่อมาในปี 2513 นายทียกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อต้นปี 2542 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเสาร์ยื่นคำร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนางเสาร์ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกไปรังวัดที่ดินให้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามทะเบียนการครอบครองที่ดิน เลขที่ 81/74 ตำบลเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยและนางเสาร์ ภริยาทำกินร่วมกันในที่ดินพิพาทมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน นางเสาร์ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใด และโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์หลังจากนางเสาร์ถึงแก่ความตายจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อมาจนกระทั่งเมื่อปลายปี 2541 และต้นปี 2542 โจทก์เข้าไปบุกรุกในที่ดินพิพาท โดยจ้างรถแบ๊กโฮและรถแทรกเตอร์เข้าไปไถที่ดินพิพาทจำเลยได้บอกกล่าวแล้ว แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครอง (น.ส.3) (ที่ถูก ทะเบียนการครอบครองที่ดิน) เลขที่ 81/74 ตำบลเหล่าน้อย อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไป เกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายทีกับนางเสริม ส่วนจำเลยเป็นสามีของนางเสาร์ นางเสาร์เป็นบุตรของนายผึ้งและนางทอง หลังจากนางเสาร์ถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางเสาร์ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามทะเบียนการครอบครองที่ดินเลขที่ 81/74 ตำบลวังหลวง (เหล่าน้อย) อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา มีชื่อนางเสาร์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามสำเนาทะเบียนการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินนายผึ้ง โดยนายผึ้งแบ่งที่ดินของตนเป็น 2 แปลง ที่ดินแปลงพิพาทยกให้นางเสาร์ ส่วนอีกแปลงหนึ่งยกให้นางสีลา ภริยาใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นของนางสายบัวทอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โดยโจทก์เบิกความว่านายทีบิดาโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางเสาร์และเข้าครอบครองทำประโยชน์ ต่อมานายทียกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนจำเลยเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางเสาร์ และนางเสาร์ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยและนางเสาร์ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์และจำเลยต่างมีพยานหลายปากมาเบิกความสนับสนุนยันกัน แต่พยานโจทก์เป็นคนในพื้นที่โดยเฉพาะนางสาวบุญแต้ม และนางสายบัวทอง เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งติดกับที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ตามลำดับต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นนายทีกับภริยาและโจทก์ทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา หลังนายทีถึงแก่กรรมโจทก์ยังทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบันไม่เคยเห็นจำเลย ภริยาหรือญาติของจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยเคยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาท แต่พยานทั้งสองไม่รับรองแนวเขตให้เพราะจำเลยไม่เคยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ซึ่งในข้อนี้นายประหยัด ช่างรังวัดของสำนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ดสาขาเสลภูมิ พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า นางสาวบุญแต้มและนางสายบัวทองเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทไม่ยอมรับรองแนวเขตอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลย นอกจากนี้นายประเคน และนายผล พยานจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเจือสมพยานโจทก์ว่า พยานได้ยินชาวบ้านพูดกันว่านายทีซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางเสาร์ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่ได้เป็นญาติหรือมีส่วนได้เสียกับโจทก์และไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความเป็นจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนพยานจำเลยนั้นส่วนใหญ่เป็นญาติกับจำเลยบางปากก็มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ไม่อาจหักล้างทะเบียนการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าขณะแจ้งการครอบครอง ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของตนและที่ดินพิพาทได้ทำประโยชน์แล้วเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดิน ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงว่าที่ดินเป็นของผู้ใด ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำสืบได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพาทษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์