คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ในข้อหาดูหมิ่นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยบรรยายฟ้องเป็นสองตอน คือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าโจทก์เป็นผู้กล่าวซึ่งได้ระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศส่วนตอนหลังมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมายของข้อความในตอนแรก ดังนี้ เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบด้วยแล้วแสดงว่าข้อความที่พนักงานอัยการระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศคือ “ถ้อยคำพูด” ที่พนักงานอัยการต้องกล่าวไว้ในฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว และข้อความตอนหลังเป็นการอธิบายความหมายเท่านั้นเมื่อข้อความที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยบรรยายฟ้องอันเป็นความเท็จเป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องในตอนหลังและมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าข้อความที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จนั้นพนักงานอัยการมีความประสงค์จะอธิบายความหมายของถ้อยคำพูดของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200และจำเลยย่อมไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด กับไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมอัยการ จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดีกรมอัยการ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นอัยการพิเศษประจำกรมจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ดำเนินคดีฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84, 91, 175, 200, 157, 326, 328 และ 332กับให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 15 วันติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนมูลฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้นเป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่ปรากฏว่าฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2831/2529 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งโจทก์แนบมาท้ายฟ้องนั้นพนักงานอัยการฟ้องจำเลย (โจทก์คดีนี้) ในข้อหาความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท และบรรยายฟ้องว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ (ก) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำการโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวป่าวประกาศด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียงในท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคนซึ่งตอนหนึ่งในการโฆษณานี้จำเลยได้บังอาจกล่าวว่า “ผมถ้าเลือกเกิดเองได้ผมจะไปเลือกเกิดทำไมเป็นลูกชาวนาจังหวัดสงขลา จะไปเลือกเกิดอย่างนั้นทำไม ถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวัง นั่น ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระซะก็หมดเรื่องไม่จำเป็นจะต้องออกมายืนตากแดดพูดให้พี่น้องฟัง เวลาอย่างนี้เที่ยง ๆ ก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทมไปแล้วตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมงที่มายืนกลางแดดอยู่ทุกวันนี้ก็มันเลือกเกิดไม่ได้”รายละเอียดของคำกล่าวปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ฯลฯ และได้กล่าวต่อนายศิว์ณัฐพงศ์ วัฒนาชีพและประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบายไม่ทรงทำอะไร ตอนเที่ยงก็เข้าห้องเย็น (หมายถึงห้องที่มีเครื่องทำความเย็น) เสวย เสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ไม่ต้องออกไปยืนกลางแดด ฯลฯ (ข) เวลาต่อมาในวันเวลาดังกล่าวในข้อ 1(ก) ภายหลังจำเลยได้กระทำความผิดในข้อ 1(ก) แล้วจำเลยได้ทำการโฆษณาหาเสียงซึ่งตอนหนึ่งจำเลยได้บังอาจกล่าวว่า “ถ้าคนเราเลือกเกิดได้ผมทำไมจะไปเกิดเป็นลูกชาวนาที่สงขลาให้มันโง่อยู่จนทุกวันนี้ ผมเลือกเกิดมันใจกลางพระบรมมหาราชวัง ไม่ดีเหรอเป็นพระองค์เจ้าวีระไปแล้ว ถ้าเป็นพระองค์เจ้า ป่านนี้ก็ไม่มายืนพูดให้คอแหบคอแห้งนี่เวลาก็ตั้งหกโมงครึ่ง ผมเสวยน้ำจัณฑ์เพื่อให้มันสบายอกสบายใจไม่ดีกว่าเหรอ ที่มายืนพูดนี้ก็เมื่อยพระชงฆ์ เต็มทีแล้วนะ”รายละเอียดคำกล่าวปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง ฯลฯ และได้และได้กล่าวต่อ ร.ต.ท.วิเชียร เฉลิมรมย์ และประชาชนอีกหลายคนซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า ทุกพระองค์มีแต่ความสุขสบาย ไม่ต้องมาพูดให้ประชาชนฟังจนคอแหบคอแห้งขณะนี้เป็นเวลาหกโมงครึ่ง(หมายถึงเวลาหกโมงครึ่งตอนเย็น) จะได้เสวยน้ำจัณฑ์ (สุรา)ให้สบายอกสบายใจ ขณะที่ยืนพูดนี่ก็เมื่อยพระชงฆ์ (หมายถึงแข้ง)เต็มทีแล้ว ฯลฯ
ศาลฎีกาพิเคราะห์คำบรรยายฟ้องดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว เห็นได้ในเบื้องแรกว่า พนักงานอัยการในคดีอาญาหมายเลขดำที่2831/2529 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ได้บรรยายฟ้องทั้งในข้อ (ก)และ (ข) เป็นสองตอนคือตอนแรกเป็นข้อความที่อ้างว่าจำเลย(โจทก์คดีนี้) เป็นผู้กล่าวซึ่งระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ ส่วนตอนที่สองเป็นส่วนที่ต่อจากข้อความดังกล่าวซึ่งมีใจความเป็นการแปลหรืออธิบายความหมาย และข้อความที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนี้ก็มีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายด้วยเช่นกัน ทั้งปรากฏว่าพนักงานอัยการในคดีดังกล่าวฟ้องจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) ในข้อหาความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(5) บัญญัติว่า “ฯลฯ ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง” เมื่อพิจารณาบทกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยแล้วแสดงให้เห็นว่า ข้อความที่พนักงานอัยการในคดีก่อนระบุไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศก็คือ “ถ้อยคำพูด” ที่พนักงานอัยการถือว่าเป็นการกระทำผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนั้น ส่วนข้อความอื่น ๆเป็นเรื่องการอธิบายความหมาย “ถ้อยคำพูด” ดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ความฎีกาของโจทก์คดีนี้เองว่าเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2529 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ พนักงานอัยการในคดีก่อนได้ขอแก้ฟ้องจากที่บรรยายฟ้องไว้ว่า “และได้กล่าวต่อนายศิว์ณัฐพงศ์ วัฒนาชีพ” กับ”และได้กล่าวต่อ ร.ต.ท.วิเชียร เฉลิมรมย์” ในฟ้องข้อ 1 (ก)และ 1(ข) ตามลำดับเป็นว่า “และเป็นการกล่าวต่อ”ทั้งสองตอน ยิ่งทำให้เห็นความมุ่งหมายของพนักงานอัยการได้ชัดเจนว่าข้อความที่โจทก์นำมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนี้พนักงานอัยการมีความประสงค์เพื่ออธิบายความหมายของข้อความ หรือถ้อยคำพูดที่จำเลย (โจทก์คดีนี้) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2831/2529 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ดังกล่าว เพียงแต่ใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเท่านั้นซึ่งก็ได้มีการแก้ไขแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อความตอนท้ายคำฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ข) ของพนักงานอัยการในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2831/2529 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นเท็จแต่อย่างใด เช่นนี้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และไม่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามมาตรา 200 แต่ประการใด สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ332 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฟ้องของพนักงานอัยการในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2831/2529 ของศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้ออ้างเป็นมูลเหตุในการขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่คดีนี้ไม่เป็นเท็จแล้วเช่นนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้บรรยายฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2831/2529 จึงไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ332 และย่อมไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 ด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ขอให้ลงโทษดังที่ได้วินิจฉัยมา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share