คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทผู้ขนส่งไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศปลายทางการขนส่งรายนี้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยดำเนินการแจ้งวันมาถึงของเรือสินค้าแก่ผู้รับตราส่งขออนุมัติให้เรือเข้าเทียบท่า ขอเช่าเครื่องมืออุปกรณ์การขนถ่ายสินค้า รับคืนใบตราส่งแลกกับใบปล่อยสินค้าเพื่อให้เจ้าของใบตราส่งนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยการดำเนินงานของจำเลยในช่วงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่งและจำเลยได้รับบำเหน็จทางการค้าตามปกติของตน พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้าและเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล ฉะนั้น เมื่อมีการบุบสลายและสูญหายในสินค้าที่รับขนส่ง จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล
การรับขนของจากต่างประเทศมายังประเทศไทยทางทะเล แม้ของจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ยังเป็นสัญญาในการรับขนของทางทะเลปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลโดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนด 10 ปีส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลจะนำมาใช้บังคับไม่ได้และจะถือว่าเป็นกฎหมายใกล้เคียงก็ไม่ได้เพราะมาตรา 164 บังคับไว้ชัดแจ้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสำหรับสินค้าที่บริษัทผู้มีชื่อส่งมายังประเทศไทยโดยมีบริษัทผู้ขนส่งเป็นผู้ขนส่ง แต่บริษัทผู้ขนส่งไม่มีสาขาในประเทศไทยจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งร่วมอีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยตกลงและได้รับบำเหน็จตอบแทนตามอัตราในทางการค้าของจำเลย ปรากฏว่าสินค้าที่ส่งมามีบางส่วนบุบสลายและสูญหายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทผู้มีชื่อไป จึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องจากจำเลยในฐานะผู้ร่วมรับขนส่งสินค้า ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าว
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ และต่อสู้ว่าจำเลยไม่เคยเข้าเป็นผู้ขนส่งร่วมจึงไม่ต้องรับผิด คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้นำสืบถึงวิธีการขนส่งสินค้าทางทะเลว่า ถ้าผู้ขนส่งคนแรกไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศปลายทาง ผู้ขนส่งนั้นจะต้องแต่งตั้งมอบหมายให้บุคคลหนึ่งหรือหลายคนขนส่งสินค้าช่วงสุดท้ายไปถึงผู้รับตราส่ง การขนส่งทั้งสามรายนี้จำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยดำเนินการแจ้งวันมาถึงของเรือสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง ขออนุมัติให้เรือเข้าเทียบท่า ขอเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ การขนถ่ายสินค้ารับคืนใบตราส่งแลกกับใบปล่อยสินค้าเพื่อให้เจ้าของใบตราส่งนำไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยมิฉะนั้นจะรับสินค้าไม่ได้ การดำเนินงานของจำเลยในช่วงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง ถึงขนาดเป็นผู้อำนวยการขนส่งและขาดเสียมิได้มิฉะนั้นการขนส่งจะต้องชะงัก ส่วนบุคคลผู้หยิบยกสินค้าหรือขนถ่ายลงจากเรือไม่ว่าจำเลยจะใช้พนักงานของจำเลยหรือผู้อื่นขนส่ง ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ทำการขนส่งเป็นเรื่องวิธีดำเนินการค้าระหว่างบริษัทผู้ขนส่งกับบริษัทจำเลย โดยบริษัทจำเลยได้รับบำเหน็จทางการค้าตามปกติของตน นอกจากบริษัทจำเลยจะปฏิบัติดังนี้แก่สินค้าขาเข้าแล้ว ยังรับจองระวางเรือและออกใบตราส่งสินค้าขาออกให้ผู้ว่าจ้างโดยรับประโยชน์จากบริษัทผู้ขนส่งทั้งสามรายตามที่ตกลงกันอีกด้วย พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าเกี่ยวข้องดำเนินงานเป็นลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้าและเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง กรณีที่มีการขนส่งหลายทอดเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๘ ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล บัญญัติว่า “ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า” ฉะนั้นเมื่อมีการบุบสลายสูญหายในสินค้าดังที่ปรากฏ บริษัทจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องรับขนของจากต่างประเทศมายังประเทศไทยทางทะเลแม้ของจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ก็ยังเป็นสัญญาในการรับขนของทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๙ วรรคท้าย แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลโดยเฉพาะ การเรียกค่าเสียหายจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม มาตรา ๑๖๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือมีกำหนด ๑๐ ปี ส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๔ ที่จำเลยฎีกาขึ้นมานั้นไม่ใช่กฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลจะนำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ และจะถือว่าเป็นกฎหมายใกล้เคียงด้วยย่อมไม่ได้เพราะ มาตรา ๑๖๔ บังคับไว้ชัดแจ้ง เมื่อปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องคดีนี้เกิดขึ้นยังไม่ถึง ๑๐ ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share