คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีในข้อกฎหมายโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ แต่เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วเพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคำร้องของผู้ร้องพอวินิจฉัยคดีได้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
การร้องคัดค้านและขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 เป็นการใช้สิทธิทางศาลอย่างหนึ่ง ผู้ร้องต้องกระทำการโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่าในวันที่รถกระบะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางนั้น กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของ ห. หาใช่เป็นของผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องเพิ่งได้กรรมสิทธิ์ในรถกระบะของกลางภายหลังจากการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งเจ็ดพร้อมทั้งยึดรถกระบะของกลางไว้แล้ว การที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องคัดค้านว่า ตลอดเวลานับตั้งแต่ผู้ร้องได้รับมอบทรัพย์สินดังกล่าวจากผู้ขาย ผู้ร้องได้ใช้รถกระบะของกลางอย่างสุจริตและเปิดเผยมาโดยตลอดนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ขัดกันเอง พฤติการณ์ตามคำร้องส่อให้เห็นว่า ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีมิใช่การร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไว้เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกระบวนการตามมาตรา 22, 27, 29 (2) ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพอวินิจฉัยได้และให้งดการไต่สวนพยานของผู้ร้องและมีคำสั่งให้ริบรถกระบะของกลางนั้นชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบทรัพย์ของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อย 2 วัน ติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีแล้ว
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์และนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องพร้อมกับสอบคำให้การจำเลยทั้งเจ็ด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้การปฏิเสธ และโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18 กรกฎาคม 2544
ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งเจ็ดอีกครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 6 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ 7 ให้การปฏิเสธ และโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 กรกฎาคม 2544
ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 กรกฎาคม 2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บล 8988 เชียงใหม่ ซึ่งรับโอนมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งไม่ทราบว่ามีการนำรถกระบะคันดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้คืนรถกระบะให้แก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นคำคัดค้าน สำเนาให้โจทก์ หลังจากนั้นศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งเจ็ดตามที่นัดไว้
ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งเจ็ด ทนายผู้ร้องขอเลื่อนการไต่สวนพยานผู้ร้องออกไปอีกนัดหนึ่งเนื่องจากทนายผู้ร้องยังไม่สามารถติดต่อแจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทราบได้เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดการไต่สวนพยานของผู้ร้องและไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดี ให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 กรกฎาคม 2544
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ช 3504 เชียงใหม่ จำนวน 1 คัน รถกระบะ หมายเลขทะเบียน บล 8988 เชียงใหม่ จำนวน 1 คัน รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน คฉท เชียงใหม่ 489 จำนวน 1 คัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 01-9932095 จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อฟิลิปส์ หมายเลข 01-9988062 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องรับโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมจอมอนิเตอร์และกล้องยี่ห้อฟิลิปส์ จำนวน 1 เครื่อง ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยกำหนดวันนัดให้ผู้ร้องสืบพยานของผู้ร้องแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ให้โอกาสผู้ร้องนำพยานเข้าสืบโดยไม่ได้กำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งให้ริบรถกระบะของกลางนั้น เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีในข้อกฎหมายโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ที่ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของ รถกระบะของกลางไม่มีโอกาสทราบว่าจะมีการนำรถกระบะของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วเพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องพอวินิจฉัยคดีได้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
การร้องคัดค้านและขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 เป็นการใช้สิทธิของศาลอย่างหนึ่ง ผู้ร้องต้องกระทำการโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่า ในวันที่รถกระบะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางนั้นกรรมสิทธิ์ยังเป็นของนายหลวงหาใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องเพิ่งได้กรรมสิทธิ์ในรถกระบะของกลางเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งเจ็ดพร้อมทั้งยึดรถกระบะของกลางไว้แล้ว การที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องคัดค้านว่าตลอดเวลานับตั้งแต่ผู้ร้องได้รับมอบทรัพย์สินดังกล่าวจากผู้ขายแล้ว ผู้ร้องได้ใช้รถกระบะของกลางอย่างสุจริตและเปิดเผยมาโดยตลอดนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ขัดกันเอง พฤติการณ์ตามคำร้องคัดค้านส่อให้เห็นว่า ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งกรณีมิใช่การร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไว้เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกระบวนการตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 22, 27, 29 (2) ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และให้งดการไต่สวนพยานของผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งริบรถกระบะของกลางนั้นชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้กำหนดวันนัดให้ผู้ร้องสืบพยานของผู้ร้องแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share