คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อช. พยานคนสุดท้ายของโจทก์ตอบคำถามติงแล้วโจทก์ส่งคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนเป็นพยานต่อศาลและให้ช. ดูและแถลงรับรองเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการถามพยานเมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้วโดยได้รับอนุญาตจากศาลตามป.วิ.พ.มาตรา117วรรคสี่จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานได้ การมอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522ให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนนั้นเป็นการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนตามที่พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2518มาตรา35ให้อำนาจไว้จึงไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้จำต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อผู้มอบอำนาจด้วย หัวหน้าเขตผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำหนังสือมอบหมายงานโยธาให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตควบคุมรับผิดชอบวินิจฉัยสั่งการแทนถือเป็นการมอบอำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522ซึ่งอยู่ในอำนาจของหน่วยงานโยธาให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนซึ่งชอบที่จะกระทำได้ตามมาตรา17แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ.2518ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติราชการที่หัวหน้าเขตจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายใด หัวหน้าเขตจะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนในนามหัวหน้าเขตก็ได้ไม่ถือเป็นการมอบอำนาจช่วงและไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎรกร เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารโดยผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่กำหนดให้เว้นที่ว่างด้านหน้าอาคารสามชั้นไว้ไม่น้อยกว่า6เมตรอันเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา31ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามมาตรา40และให้รื้อถอนตามมาตรา42วรรคแรกแล้วอาคารดังกล่าวก็จะต้องถูกรื้อถอนแม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา22,65อันเป็นการอ้างบทกฎหมายไม่ถูกต้องและแม้เจ้าพนักงานจะได้ออกหมายเลขที่บ้านให้จำเลยไปแล้วโดยมิได้คัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก็ตาม ในการบอกกล่าวให้จำเลยระงับการก่อสร้างและให้รื้อถอนอาคารนั้นเมื่อปรากฏว่าผู้ควบคุมงานของจำเลยเป็นผู้รับคำสั่งดังกล่าวแล้วย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ทราบด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่สร้างเกินแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตออกไป หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42
จำเลยให้การต่อสู้และขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนตามคำขอของโจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์600 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีเอกสารใดมาแสดงว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน และเอกสารหมาย จ.15 รับฟังเป็นพยานไม่ได้นั้น…เมื่อนายชาญชัยวามะศิริ พยานโจทก์คนสุดท้ายตอบคำถามติงแล้วโจทก์ส่งคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 2643/2522 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2522 เป็นพยานต่อศาลศาลหมาย จ.15 แล้วโจทก์ให้นายชาญชัยดูเอกสารหมาย จ.15 เมื่อดูแล้วนายชาญชัยแถลงว่าเป็นสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ศาลฎีกาเห็นว่าแม้การที่โจทก์ส่งเอกสารหมาย จ.15 เป็นพยานต่อศาล และให้นายชาญชัยดูเอกสารดังกล่าว แล้วนายชาญชัยแถลงประกอบเอกสาร จะถือได้ว่าเป็นการซักถามพยานเมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์กระทำเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 วรรคสี่ จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.15 เป็นพยานได้ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าคำสั่งกรุงเทพมหานคร เรื่อง มอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ไม่สมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรเพราะมิได้ปิดแสตมป์ตามกฎหมาย และไม่มีพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้มอบอำนาจนั้น เห็นว่าการมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจมอบอำนาจที่ตนมีอยู่ให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติราชการแทนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่จำต้องปิดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้จำต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อผู้มอบอำนาจด้วย จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.15 เป็นพยานได้และฟังได้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน
ประเด็นข้อต่อไปที่ว่า นายชัยโรจน์ผู้ช่วยหัวหน้าเขตคลองสานมิใช่เจ้าพนักงานท้องถิ่น เอกสารพยาน จ.14 ไม่ได้ระบุให้นายชัยโรจน์ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตคลองสานตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 คำสั่งกรุงเทพมหานครไม่ได้ระบุให้หัวหน้าเขตมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเอกสารหมาย จ.14 ไม่สมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรเพราะมิได้ปิดแสตมป์ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลไม่ได้นั้นพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 17บัญญัติไว้ความว่า การปฏิบัติราชการที่หัวหน้าเขตจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมายใด หัวหน้าเขตจะมอบอำนาจให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนในนามหัวหน้าเขตก็ได้ ทั้งเอกสารหมาย จ.14 ระบุว่านายณรงค์ โตสมภาค หัวหน้าเขต มอบหมายงานโยธาให้นายชัยโรจน์เป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบ มีสิทธิวินิจฉัยสั่งการแทนหัวหน้าเขตไปได้ทันทีประกอบกับการควบคุมการก่อสร้างอยู่ในอำนาจของหน่วยงานโยธานายชัยโรจน์ซึ่งได้รับมอบหมายงานโยธาจากหัวหน้าเขตจึงเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตคลองสานตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบให้ปฏิบัติราชการแทนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่เป็นการมอบอำนาจช่วง และไม่จำต้องปิดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร รับฟังเอกสารหมาย จ.14เป็นพยานได้ นายชัยโรจน์จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารหรือรื้อถอนอาคาร
ประเด็นข้อต่อไปที่ว่า จำเลยได้ก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น จำเลยนำสืบรับว่าจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งตามแบบแปลนดังกล่าวปรากฏว่าที่ว่างด้านหน้าอาคาร เอ. และอาคาร บี. จะต้องกว้าง 6 เมตร และที่ว่างด้านหน้าอาคาร ซี. จะต้องกว้าง 7 เมตร แต่นางสงวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมอาคาร งานโยธา เขตคลองสาน ซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความว่าพยานได้รับคำสั่งจากนายเรวัต หัวหน้าหมวดควบคุมอาคารเขตคลองสานให้ไปตรวจสอบอาคารที่จำเลยก่อสร้าง ปรากฏว่าที่ว่างด้านหน้าอาคาร เอ. และอาคาร บี. กว้างเพียง 3 เมตร และที่ว่างด้านหน้าอาคาร ซี. กว้างเพียง 5 เมตร ประกอบกับจากการเดินเผชิญสืบตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2526 ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่า ระหว่างอาคาร เอ. กับอาคาร บี. กว้าง 5.95 เมตร ซึ่งรวมทางเท้าทั้งสองข้างไว้ด้วย และระหว่างอาคาร ซี.กับอาคารด้านตรงข้ามกว้าง 6.24 เมตร ซึ่งรวมทางเท้าทั้งสองข้างไว้ด้วย การก่อสร้างอาคารของจำเลยจึงผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติดกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ76(3) ที่กำหนดว่าการปลูกสร้างอาคารสามชั้นให้เว้นที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมด้านหน้าอาคารไม่น้อยกว่า 6 เมตร อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40 และ 42 ทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าอาคารที่จำเลยก่อสร้างและโจทก์จะให้จำเลยรื้อถอน มิได้กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสัญจรไปมา และการรักษาอาคารให้เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นเห็นว่าการก่อสร้างอาคารจะมีความปลอดภัยแก่การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม การอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการอื่นที่จำเป็นหรือไม่เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาและตราข้อบัญญัติไว้แล้ว อาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยไม่มีความปลอดภัย จำเลยฎีกาว่าบันทึกการเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.11 จำเลยถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับในข้อหาฐานปลูกสร้างอาคารผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 65 มิใช่ตามมาตรา31, 40 และ 42 ตามที่โจทก์กล่าวหานั้นเห็นว่า เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 และต่อมาได้สั่งให้จำเลยรื้อถอนตามมาตรา 42 วรรคแรกแล้ว อาคารดังกล่าวก็จะต้องถูกรื้อถอน แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยโดยอ้างบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และเจ้าพนักงานเขตคลองสานออกหมายเลขที่บ้านให้จำเลยโดยมิได้คัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า เขตคลองสานยินยอมให้จำเลยโอนขายอาคาร เอ. อาคาร บี. และอาคาร ซี. บางห้องให้แก่บุคคลภายนอกเท่ากับว่าเขตคลองสานมิได้ทักท้วงหรือคัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นข้อสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 โจทก์จึงยังไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารนั้นปรากฏว่าผู้ควบคุมของจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับตามเอกสารหมาย จ.9 ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่า แม้ลายมือชื่อของผู้ควบคุมงานของจำเลย เมื่อผู้ควบคุมงานของจำเลยเป็นผู้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ก็ถือได้ว่าจำเลยได้ทราบด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์.

Share