คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 974/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยังไม่ได้ผลิตรั้วตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปตามรูปแบบใหม่ออกจำหน่าย และอีกตอนหนึ่งที่ว่าโจทก์ยังอยู่ขั้นทดลองกระบวนการผลิต โจทก์จึงยังมิได้รับความเสียหายไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิบัตร นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบที่คู่ความรับกันได้ความว่า จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ผลิตสินค้าเลียนสินค้าของจำเลยที่จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลย เลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 กอปรกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในอีกตอนหนึ่งและที่โจทก์นำสืบยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งหากเป็นจริงย่อมนับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แบบผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูปตามสิทธิบัตรที่พิพาททั้ง 4 ฉบับของจำเลยเป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับที่มีการตีพิมพ์อันเป็นการเปิดเผยและแพร่หลายอยู่ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรของจำเลยตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนทั้ง 4 ฉบับ จึงไม่ใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความหมายของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 56 สิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ ของจำเลยย่อมไม่สมบูรณ์ซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 64 แพ่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 โดยแจ้งคำสั่งหรือคำพิพากษาไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือมิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้จำเลยยุติการถือสิทธิหรือห้ามจำเลยใช้ หรือแอบอ้างสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ ไม่ว่าจะโดยการประกาศ โฆษณาเผยแพร่ หรือกระทำการแทนใด ๆ เพื่อให้สาธารณชนหลงผิดว่าจำเลยพึงได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว ห้ามจำเลยเข้าไปหรือนำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดผลิตภัณฑ์รั้วตะแกรงเหล็กที่โจทก์ผลิตขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้จำเลยประกาศโฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ติดต่อกันโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย โดยต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หรือมิฉะนั้นให้โจทก์ลงประกาศโฆษณาแทนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2545 อันเป็นวันกระทำละเมิดต่อโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 2,500,000 บาท จนกว่าคดีถึงที่สุด
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี จำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ฉบับ โดยชอบด้วยกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของจำเลยทั้ง 4 ฉบับ แล้วเห็นว่าเป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ แบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่ได้ลอกเลียนสิ่งที่มีเผยแพร่อยู่แล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแต่อย่างใด เอกสารสิ่งพิมพ์ที่โจทก์อ้างตามท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้ขอรับสิทธิบัตรแล้ว การที่จำเลยดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ได้จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จงใจผลิตสินค้าเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นค่าขาดประโยชน์ที่พึงได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของจำเลยเป็นเงินเดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าคดีถึงที่สุด ให้โจทก์ชดใช้ค่าขาดประโยชน์เนื่องจากจำเลยไม่ได้จำหน่ายรั้วสำเร็จรูปเป็นเงินเดือนละ 1,500,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าคดีถึงที่สุด ให้โจทก์ยุติการผลิต หยุดโฆษณา หยุดการเสนอขาย และหยุดยุ่งเกี่ยวกับการผลิตรั้วสำเร็จรูปตามสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ และให้โจทก์โฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาที่ห้ามมิให้โจทก์ผลิตหรือยุ่งเกี่ยวกับการผลิตรั้วสำเร็จรูปตามสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ ของจำเลยในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ติดต่อกันด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์เอง โดยอย่างน้อยต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หรือมิฉะนั้นให้จำเลยลงโฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ฉบับ จนกระทั่งจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้ายึดและอายัดผลิตภัณฑ์รั้วตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปของโจทก์ และจับกุมโจทก์ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้รับความเสียหายจากการดำเนินคดีอาญาของจำเลย นายอิทธิกุลไม่ได้เป็นผู้ออกแบบและไม่เคยมีผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันดังกล่าว จำเลยใช้แบบผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูปที่มีการเปิดเผยรายละเอียดในเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่แพร่หลายในต่างประเทศมายื่นคำขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย การโฆษณาของจำเลยในหนังสือพิมพ์บิดเดอร์เป็นเพียงการเตรียมการเพื่อจับกุมและยึดอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ยอดขายสินค้าของจำเลยตกเกิดจากผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูปของจำเลยไม่ได้มาตรฐานมีราคาสูงกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 ตามคำขอเลขที่ 050734, 050735, 050733 และ 050736 ห้ามจำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายในราชอาณาจักรจำนวน 4 ฉบับ โดยเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน จำนวน 2 ใน 4 ฉบับ ข้างต้น หนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ฉบับ ให้โฆษณาเป็นเวลา 7 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นให้โจทก์เป็นผู้ลงโฆษณาแทนโดยจำเลยต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าใช้จ่าย ในการลงประกาศโฆษณาทั้งหมด ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในส่วนที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 150,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นที่ยุติว่า บริษัทโจทก์และจำเลยต่างประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รั้วตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปเหมือนกัน นายสมชายกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 บริษัทจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จรูปรวม 4 คำขอ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรให้ทุกคำขอรวม 4 ฉบับ เป็นสิทธิบัตรเลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 ตามสำเนาคำขอและสำเนาสิทธิบัตร ครั้นวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับโจทก์ดำเนินคดีอาญาโดยกล่าวหาว่าโจทก์มีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยังไม่ได้ผลิตรั้วตะแกรงเหล็กสำเร็จรูปตามรูปแบบใหม่ออกจำหน่ายและอีกตอนหนึ่งที่ว่าโจทก์ยังอยู่ขั้นทดลองกระบวนการผลิต โจทก์จึงยังมิได้รับความเสียหายไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิบัตรนั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องและทางนำสืบที่คู่ความรับกันได้ความว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ผลิตสินค้าเลียนสินค้าของจำเลยที่จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยเลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 กอปรกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในอีกตอนหนึ่งและที่โจทก์นำสืบยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามิใช่การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งหากเป็นจริงย่อมนับว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง หาใช่ไม่มีอำนาจไม่ อุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการที่สองมีว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามที่จดสิทธิบัตรไว้เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ ในประการนี้โจทก์นำสืบสรุปใจความได้ว่า จำเลยทำเลียนแบบที่มีการเปิดเผยและแพร่หลายมาแล้วทั้งในต่างประเทศและในประเทศ จำเลยนำสืบว่า แบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยนำไปขอจดทะเบียน นายอิทธิกุลผู้จัดการฝ่ายผลิตของจำเลยเป็นผู้ออกแบบเองโดยไม่ได้ลอกเลียนผู้ใดและไม่เหมือนกับแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์นำสืบ ส่วนหลักฐานที่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ตามที่โจทก์นำสืบ เข้าใจว่ามีขึ้นภายหลังจากที่จำเลยยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว เห็นว่า แบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาคือ แบบรั้วตะแกรงเหล็ก ตามรูปแบบที่จำเลยจดสิทธิบัตรไว้ทั้ง 4 คำขอ มีลักษณะเป็นทรงรูปสี่เหลี่ยม ส่วนที่เป็นตะแกรงจะใช้เหล็กเส้นวางทับกันเป็นตาตาราง โดยในแนวตั้งจะจัดวางในระยะห่างที่เท่าๆ กัน ที่เป็นแนวนอนจะมีเป็นเหล็กเส้นจำนวน 5, 6, 8 และ 9 เส้น ตามแต่ละรูปแบบทั้ง 4 มาวางพาด ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักฐานที่โจทก์นำมาแสดงที่เป็นใบปลิวหรือแผ่นพับ โฆษณาจำหน่ายรั้วตะแกรงเหล็กในหลายๆ ประเทศ อาทิ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวมกว่า 10 บริษัท ปรากฏว่าทุกภาพมีรูปแบบในสาระสำคัญคล้ายหรือเหมือนกับรูปแบบผลิตภัณฑ์รังตะแกรงเหล็กที่จำเลยนำไปจดทะเบียน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยไม่ใหม่ นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบได้อีกว่า เอกสารสิ่งตีพิมพ์ที่โฆษณาขายรั้วตะแกรงเหล็กเหล่านั้นในหลายๆ ฉบับมีระบุวันตีพิมพ์หรือกำหนดราคาขายสินค้าซึ่งปรากฏเป็นวันก่อนปี 2540 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้โดยหาจำต้องนำผู้โฆษณาหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่โฆษณามานำสืบดังที่จำเลยอ้างเป็นเหตุผลในอุทธรณ์ไม่ เชื่อว่ารูปแบบผลิตภัณฑ์รั้วสำเร็จตามสิทธิบัตรที่พิพาททั้ง 4 ฉบับ ของจำเลยคือสิทธิบัตรเลขที่ 9914, 9915, 9922 และ 9923 เป็นแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับที่มีการตีพิมพ์อันเป็นการเปิดเผยและแพร่หลายอยู่ก่อนวันขอรับสิทธิบัตรของจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนทั้ง 4 ฉบับ จึงไม่ใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความหมายของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 56 สิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ ของจำเลยย่อมไม่สมบูรณ์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 64 แห่ง พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายมีตามอุทธรณ์ของคู่ความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยออกแบบผลิตภัณฑ์รั้วตะแกรงเหล็กโดยเลียนแบบจากที่มีเปิดเผยและแพร่หลาย การที่จำเลยยังขืนนำแบบผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบของผู้อื่นไปจดทะเบียนทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ แม้สิทธิบัตรของจำเลยจะยังไม่ถูกเพิกถอนในขณะนั้นก็ตาม การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นและดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่ไม่ชอบของจำเลย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าก่อนดำเนินคดีแก่โจทก์นั้น จำเลยได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตรแล้วก็เห็นได้ว่าเป็นการแสวงหาหลักฐานไว้ล่วงหน้า ในทางตรงกันข้าม ย่อมไม่อาจถือว่าโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลย กรณีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงนับว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายแต่ฝ่ายเดียวที่ควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนค่าเสียหายควรมีจำนวนเท่าใดและควรที่จะให้จำเลยต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยหรือไม่นั้น ในส่วนความเสียหายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะอ้างความเสียหายโดยแสดงการประมาณการ แต่การที่บริษัทโจทก์ไม่เคยรับงานตลอดทั้งปีก็ดีการประกอบการของโจทก์หาใช่ได้กำไรทุกปีก็ดี บริษัทโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าประมูลงานของทางราชการเนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างก็ดี ตั้งแต่ผลิตสินค้าพิพาทออกจำหน่ายจะสามารถจำหน่ายได้ถึง 1,000,000 บาท หรือไม่ยังไม่แน่นอนก็ดี ฯลฯ ล้วนไม่ได้ยืนยันความเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ ในส่วนคดีอาญาก็เช่นกัน นายพรเทพ ก็รับว่าในชั้นสอบสวนโจทก์โดยนายพรเทพเพียงปฏิเสธลอยๆ โดยไม่ได้นำหลักฐานให้พนักงานสอบสวนได้วิเคราะห์เพื่อแสดงว่าโจทก์มิได้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว เห็นว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงเหมาะสมแล้ว แต่ในเรื่องการให้จำเลยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์และห้ามจำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงพอได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ผู้ผลิตรั้วตะแกรงเหล็กรายใหญ่มีแต่บริษัทโจทก์และจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยจะนำเรื่องที่มีการจับกุมไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หรือมีการเสนอข่าวแต่อย่างใด และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวแล้ว ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้มีการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยและห้ามจำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันและยกคำสั่งห้ามจำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรทั้ง 4 ฉบับเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share