แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงินมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรองว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเปลี่ยน น.ส.3 ให้โจทก์และจะค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุการณ์ในภายหน้าที่จำเลยที่ 1 รับจะดำเนินการดังกล่าวให้ หากโจทก์ไม่พอใจในหลักประกัน แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เปลี่ยนน.ส.3 และไม่ยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่1 ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองที่ให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่1 ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 จะต้องเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โจทก์บรรยายฟ้องว่า น.ส.3ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาไปจากโจทก์ เป็นของจำเลยที่ 2 และที่3 เองจึงมิใช่เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๓๔๑,๑๘๘, ๙๑, ๙๐
ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้หลอกลวงโจทก์ว่า หาก น.ส.๓ ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ให้ไว้เป็นประกันเงินกู้ไม่เพียงพอ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะเปลี่ยน น.ส.๓ ให้กับจำเลยที่ ๒ และที่๓ จะเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ แต่ต่อมาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กลับไม่ยอมเปลี่ยน น.ส.๓ และไม่ยอมค้ำประกันจำเลยที่ ๑ นั้นเห็นว่าตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินมาตั้งแต่ตอนแรกแล้วส่วนที่จำเลยที่ ๑ ให้คำรับรองว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะเปลี่ยนน.ส.๓ ให้โจทก์และจะค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ ๑ ก็เป็นเหตุการณ์ในภายหน้าที่ว่าหากโจทก์ไม่พอใจในหลักประกันจำเลยที่ ๑ ก็รับจะดำเนินการให้ดังกล่าว การที่ต่อมาจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่เปลี่ยน น.ส.๓ และไม่ยอมค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามคำรับรองที่ให้ไว้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาทำให้การกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
ส่วนความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๘ นั้น เห็นว่า ความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ดังนั้นข้อสำคัญประการหนึ่งจึงอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร แต่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า น.ส.๓ ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เอาไปจากโจทก์นั้นเป็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เองจึงมิใช่เป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘
พิพากษายืน.