คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9716/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายซื้อและขายหลักทรัพย์ตามสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ ช. ผู้ตายมีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คักค้านใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเอาเงินที่ลูกหนี้ได้ทดรองจ่ายไปแทน ช. เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จึงเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อ ช. มีกำหนดอายุความเกินกว่า 10 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช.
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการติดตามเก็บรวบรวมและรับเงินซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) ประกอบมาตรา 119 ได้รู้ถึงการตายของ ช. นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ ช. โดยวิธีการปิดหมายวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) มูลหนี้พิพาทที่ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้และแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2547 ให้ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมของนายชอผู้ตายชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวนรวม 865,727.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 453,916.29 บาท นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ไปยังผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายชอผู้ตาย ไม่เคยเป็นหนี้กับลูกหนี้และผู้ร้องไม่เคยได้รับมรดกของผู้ตาย ทั้งมูลหนี้ตามหนังสือทวงหนี้ขาดอายุความแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของผู้ตายขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายทำสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์กับลูกหนี้ด้วยความสมัครใจจึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย มูลหนี้ดังกล่าวยังไม่ขาดอายุความ และผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของนายชอผู้ตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านเป็นว่า ให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน 453,916.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 173,181.74 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 จนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2541 ของต้นเงิน 149,157.30 บาท นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ของต้นเงิน 295,402.09 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จของต้นเงิน 9,356.90 บาท นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการแรกว่า นายชอผู้ตาย เป็นหนี้ลูกหนี้ตามหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของผู้คัดค้านฟังไม่ได้ว่าผู้ตายเป็นผู้สั่งซื้อหุ้นตามสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณานายพูนพลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน มาเบิกความแล้วว่า ลูกหนี้ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์รวมทั้งให้กู้ยืมเงินหรือจ่ายเงินทดรองให้แก่ลูกค้าเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2539 ผู้ตายได้มาทำสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไว้กับลูกหนี้ มีข้อตกลงยินยอมให้ลูกหนี้เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แก่ผู้ตายโดยในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวลูกหนี้จะมีคำสั่งด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร โทรศัพท์ โทรสาร หรือด้วยวิธีการอื่นใด เพื่อให้ลูกหนี้ทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นคราว ๆ ไป และกรณีลูกหนี้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยทดรองจ่ายเงินแทนผู้ตายแล้วผู้ตายจะต้องชำระหนี้คืนภายในกำหนด 30 วัน หากผิดนัดชำระหนี้ผู้ตายตกลงยินยอมให้ลูกหนี้ยึดถือหลักทรัพย์นั้นเป็นประกันการชำระหนี้และดำเนินการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อการชำระหนี้ได้ ทั้งผู้ตายตกลงมอบอำนาจให้ผู้ร้องมีอำนาจในการสั่งซื้อสั่งขายหลักทรัพย์และกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับหรือสืบเนื่องจากสัญญาดังกล่าวแทนผู้ตายได้ด้วย ตามสำเนาสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ค.1 และ ค.2 ภายหลังทำสัญญาดังกล่าวระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ลูกหนี้ได้สั่งซื้อและทดรองจ่ายเงินในการซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของผู้ตายหลายครั้งแล้วผู้ตายผิดนัดชำระหนี้ลูกหนี้จึงนำหลักทรัพย์ที่ยึดถือไว้เป็นประกันออกขายได้เงินมาหักชำระหนี้เพียงบางส่วน โดยผู้ตายยังคงมียอดเงินค้างชำระลูกหนี้จำนวน 453,916.29 บาท ตามสำเนาบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบสินเชื่อสำเนาใบเสร็จรับเงิน สำเนาใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์และตารางคำนวณยอดหนี้เอกสารหมาย ค.3 ถึง ค.10 ส่วนผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจในการสั่งซื้อขายหลักทรัพย์และกระทำการใด ๆ แทนผู้ตายได้ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ค.2 มิได้มาเบิกความด้วยตนเองแต่อย่างใด มีเพียงนายวิโรจน์ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องมาเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ผู้ตายไม่เคยเป็นหนี้ลูกหนี้แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่าขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยโต้แย้งการทำสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์พิพาท หรือเคยปฏิเสธหนี้ตามสำเนาบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบสินเชื่อ สำเนาใบเสร็จรับเงิน และสำเนาใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย ค.3 ถึง ค.9 แต่ประการใด พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า ผู้ตายเป็นหนี้ลูกหนี้ตามหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้าน อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มูลหนี้พิพาทขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่ลูกหนี้ซื้อและขายหลักทรัพย์ตามสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์พิพาทนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับผู้ตายดังกล่าวมีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน การที่ผู้คัดค้านใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเอาเงินที่ลูกหนี้ได้ทดรองจ่ายไปแทนผู้ตาย เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ต่อมาปรากฏว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ตายมีกำหนดอายุความเกินกว่า 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามทางนำสืบของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทราบถึงการตายของผู้ตาย แต่ปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วยังมีการดำเนินการขายหลักทรัพย์ของผู้ตายตลอดมาแสดงว่าลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์มิได้ทราบถึงความตายของผู้ตายแต่ประการใด นอกจากนี้ผู้คัดค้านมีนายพูนพลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน มาเบิกความยืนยันแล้วว่าเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 ก่อนมีการส่งหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ตาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการตรวจสอบรายการทะเบียนประวัติบุคคล สำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตธนบุรี จึงทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วโดยมีผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมตามสำเนารายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสำเนารายการทะเบียนประวัติบุคคลเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 12 โดยผู้ร้องมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นประการอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการติดตามเก็บรวบรวมและรับเงินซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) ประกอบมาตรา 119 ได้รู้ถึงการตายของนายชอแล้วนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ตามสำเนาหนังสือทางหนี้และสำเนารายงานการเดินหมายเอกสารหมาย ค.12 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) มูลหนี้พิพาทที่ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้และแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายต้องรับผิดในมูลหนี้ดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share