คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 971/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยใช้เครื่องเลื่อยโซ่ก่นสร้างแผ้วถางป่าเป็นเนื้อที่ถึง 6 ไร่ เป็นการทำลายป่าและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอย่างกว้างขวาง อันเป็นเหตุอาจทำให้เกิดอุทกภัยและความแห้งแล้งเป็นผลเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนได้ จึงเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงมากสมควรที่จะลงโทษสถานหนัก และจำเลยที่ 1ยังได้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ กับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อีกด้วยกรณีจึงไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข เพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลตามกฎหมาย มิใช่ขอให้จ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้าจึงต้องให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาเลื่อยโซ่ของกลางที่ศาลสั่งริบ ตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 91 ริบของกลาง ให้จำเลยและบริการออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติกับจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง จำคุกคนละ 3 ปีจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิปรับ 20,800 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุก 3 เดือน รวมโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี 3 เดือน และปรับ 20,800 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 7 เดือน 15 วัน และปรับ 10,400 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของราคาเครื่องเลื่อยโซ่ของกลาง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 วรรคสอง จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี รวมกับโทษอีกสองกระทงเป็นโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 3 เดือน และปรับ20,800 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้วคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ10,400 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยใช้เครื่องเลื่อยโซ่ก่นสร้าง แผ้วถางป่าเป็นเนื้อที่ถึง 6 ไร่เป็นการทำลายป่าและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอย่างกว้างขวางอันเป็นเหตุอาจทำให้เกิดอุทกภัยและความแห้งแล้งเป็นผลเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนได้ จึงเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงมากสมควรที่จะลงโทษสถานหนัก และจำเลยที่ 1 ยังได้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร กับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯอีกด้วย ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบามานั้นนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองมากอยู่แล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไขเพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้วประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลตามกฎหมายมิใช่ขอให้จ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของราคาของกลางนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาเลื่อยโซ่ของกลางที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share