คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 971/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จับจองและครอบครองที่ดินมือเปล่า 100 ไร่เศษ ต่อมาจำเลยเข้าไปอยู่ในที่ของโจทก์แล้วไม่ยอมออกไป อ้างว่าเป็นที่ที่นิคมสร้างตนเองแบ่งให้จำเลย 12 ไร่และจำเลยยังได้บุกเบิกออกไปอีก 20 กว่าไร่ ครั้นเมื่อโจทก์ทราบว่าที่ไม่อยู่ในเขตของนิคม โจทก์ก็ร้องต่ออำเภอขอคืน อำเภอเรียกไปทำการเปรียบเทียบ โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยตกลงเอาที่ดินเพียง 12 ไร่ นอกนั้นเป็นของโจทก์ทั้งหมด อำเภอได้บันทึกข้อตกลงนี้ให้โจทก์จำเลยลงชื่อไว้ถึงแม้ข้อตกลงนี้จะมิได้ระบุให้ชัดว่าที่พิพาทอยู่ตอนไหน คู่กรณีฝ่ายใดได้ที่บริเวณไหนการรังวัดจะต้องทำอย่างไรแต่เรื่องนี้โจทก์จำเลยเข้าใจดีว่าที่พิพาทคือที่ที่จำเลยอ้างว่านิคม ฯ แบ่งให้จำเลย 12 ไร่ และจำเลยก็ได้นำชี้ไว้ในแผนที่กลางแล้ว บันทึกการเปรียบเทียบนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจะอ้างว่าไม่อาจจะระงับข้อพิพาทได้นั้นหาได้ไม่ และผลของสัญญาประนีประนอมนั้นย่อมทำให้การเรียกร้องของจำเลยซึ่งได้ยอมสละนั้นสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์มาฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจะอ้างว่าขาดอายุความแล้วโดยจะให้นับระยะเวลาตามที่จำเลยครอบครองที่พิพาทมาดังนี้ หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 20 ปีเศษ โจทก์กับสามีได้จับจองโก่นสร้างที่ตนเป็นเนื้อที่ 100 ไร่เศษ แล้วแยกเป็น 2 แปลง แปลงที่หนึ่งเนื้อที่ 60 ไร่เศษ แปลงที่สอง 40 ไร่เศษต่อมาโจทก์มอบให้ผู้อื่นปกครองแทนจนปัจจุบัน เมื่อ 5 ปีมานี้จำเลยได้ขออาศัยนายประไพผู้ปกครองที่แทนโจทก์ทำไร่ปลูกข้าวในที่ดินแปลงเลข 2 เนื้อที่ 5-6 ไร่ แล้วเจ้าพนักงานนิคมสร้างตนเองได้มาวัดที่ดินแปลงที่ 2 ให้จำเลย 12 ไร่ โดยอ้างว่าที่ดินโจทก์อยู่ในเขตของนิคมต่อมาจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงเลข 2 (ที่โจทก์ครอบครองอยู่ 28 ไร่นั้น) 20 ไร่เศษ และบุกรุกเข้าไปในแปลงเลข 1 อีก 2 ไร่เศษโจทก์ร้องเรียนต่ออำเภอ อำเภอเรียกจำเลยมาสอบสวน โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมกันตามคำเปรียบเทียบของอำเภอว่าจำเลยจะเอาที่ดินเพียง 12 ไร่ เฉพาะที่จำเลยครอบครองและปลูกบ้านเท่านั้น ที่ดินนอกนั้นจำเลยไม่เกี่ยวข้อง ยอมให้เป็นของโจทก์ทั้งหมด ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำเปรียบเทียบของอำเภอ ยอมให้เจ้าพนักงานเข้าไปรังวัดปักเขต ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อ 12 ปีมานี้จำเลยเข้าเป็นสมาชิกของนิคมฯ ผู้ปกครองนิคมแบ่งที่ดินให้จำเลย 12 ไร่ จำเลยได้บุกเบิกออกไปอีกได้เนื้อที่ 20 ไร่เศษ จำเลยได้ปกครองที่พิพาทและนอกพิพาทมา 10 ปีเศษแล้ว จำเลยได้ลงชื่อในบันทึกของอำเภอเนื่องจากความเข้าใจผิดและถูกขู่เข็ญ คดีของโจทก์ขาดอายุความตั้งแต่ก่อนมาอำเภอ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงของโจทก์จำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850,852 และคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยได้ที่ดิน 12 ไร่ในเขตเส้น ธ.น.บ.ช. ในแผนที่กลาง นอกนั้นห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ 30 ปีมานี้ โจทก์กับสามีได้จับจองที่ 100 ไร่แล้วแผ้วถางทำประโยชน์แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงตะวันตก 60 ไร่ ตะวันออก 40 ไร่ แปลงตะวันออกนี้โจทก์กับสามีปกครองเองและให้ผู้อื่นเข้าทำจนถึงนายประไพ ตอนที่นายประไพทำนั้นพี่ชายจำเลยได้ขอทำไร่ข้าวตรงกลางที่ แล้วพี่ชายจำเลยพาจำเลยเข้าไปปลูกขนำอยู่ในที่ที่นายพร้อมทำไร่ข้าว แล้วจำเลยไม่ยอมออกไปอ้างว่าเป็นที่ที่นิคมแบ่งให้จำเลย 12 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2502 นายอำเภอบอกว่าที่ของนิคมมาไม่ถึงที่ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอที่ดินคืนจากจำเลย ปลัดอำเภอเรียกจำเลยมาทำการเปรียบเทียบโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยตกลงเอาที่ดินเพียง 12 ไร่ นอกนั้นเป็นของโจทก์ทั้งหมด ปลัดอำเภอได้บันทึกข้อตกลงนี้ไว้ให้โจทก์จำเลยลงชื่อในข้อตกลง ปรากฏตามเอกสาร จ.1 ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา

เห็นว่า ถึงแม้ในสัญญาจะมิได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าที่พิพาทอยู่ตอนไหน คู่สัญญาฝ่ายใดได้ที่บริเวณไหน การรังวัดจะต้องทำอย่างไรแต่เรื่องนี้โจทก์จำเลยเข้าใจดีว่าที่พิพาทคือที่ที่จำเลยอ้างว่านิคมสร้างตนเองแบ่งให้จำเลยที่ 12 ไร่ และจำเลยก็ได้นำชี้ไว้ในแผนที่กลางแล้ว เอกสาร จ.1 นี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ข้อที่จำเลยโต้เถียงว่าไม่อาจจะระงับข้อพิพาทได้นั้นจึงไร้สาระ

ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมให้ที่ดินที่จำเลยโก่นสร้างเกินกว่า 12 ไร่เป็นของโจทก์แล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นย่อมทำให้การเรียกร้องของจำเลยซึ่งได้สละนั้นสิ้นไปทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์มาฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share