แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ ว่าจำเลยมีอาชีพรับจ้างขับรถไถลากไม้เถื่อน จากเขตแดน ประเทศไทย- พม่า และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของกลาง เพื่อดักฟังการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจขณะจำเลย ขนไม้เถื่อน ทั้งการมีและพาอาวุธปืนของกลางก็เป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย พฤติการณ์แห่งคดีจึง ไม่สมควรรอการลงโทษให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 11, 39 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6 วรรคสอง, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 ริบเครื่องวิทยุคมนาคมและเสารับส่งของกลางให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 11, 39พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6 วรรคสอง, 60ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก6 เดือน ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 6 เดือน ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 6 เดือน ฐานใช้รถยนต์ที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 2,000 บาท ฐานใช้รถยนต์ที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก2 ปี 6 เดือน ปรับ 22,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือนปรับ 11,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบเครื่องวิทยุคมนาคมและเสารับส่งของกลางให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง, 22, 23 ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมและฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 22,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 11,000 บาท คืนอาวุธปืน กระสุนปืน ซองพกอ่อนและรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าจำเลยมีอาชีพรับจ้างขับรถไถลากไม้เถื่อน จากเขตแดนประเทศไทย-พม่าทางด้านตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของกลางเพื่อดักฟังการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจขณะจำเลยขนไม้เถื่อน การมีและพาอาวุธปืนของกลางจึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วยพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน