คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13412/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และการที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือให้เงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 450/2551 และ 451/251 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 220,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายสมศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก อนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฉ้อโกง)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้เงิน 220,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 450/2551 และ 451/2551 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากทั้งสองคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และการที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมเป็นผลให้คำขอในส่วนแพ่งในความผิดฐานฉ้อโกงที่โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตกไปด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มิได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ จึงต้องยกคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี คือต้องการให้ความคุ้มครองแก่คนหางานซึ่งส่วนมากเป็นคนจนไม่ให้ถูกหลอกว่าจะได้ไปทำงานในต่างประเทศโดยต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อันจะส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งในส่วนตัวและครอบครัว การกระทำความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปทำงานในต่างประเทศได้จึงเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง สมควรลงโทษผู้กระทำความผิดให้เด็ดขาดจะได้เข็ดหลาบไม่กล้ากระทำความผิดก่อความเดือดร้อนแก่สังคมอีก คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ร่วมในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสียจากสารบบความ ยกคำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share