คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2249/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 2 นัด ในระยะห่างเพียงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ แต่ตามใบรับรองแพทย์ เอกสารหมาย จ.1 แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถูกยิงและถูกทำร้ายร่างกายบริเวณคอศีรษะ และใบหน้า แต่ไม่ปรากฏว่าบาดแผลดังกล่าวมีขนาดและความลึกเท่าใดหรือแพทย์มีความเห็นว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ได้รับการรักษาบาดแผลทันท่วงทีผู้เสียหายจะถึงแก่ความตายหรือไม่ ทั้งแพทย์มีความเห็นว่า ผู้เสียหายควรหยุดงานเพียง 8 วัน แม้จะได้ความจากผู้เสียหายว่า แพทย์ต้องผ่าเอาหัวกระสุนปืนออกจากบริเวณท้ายทอยของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายก็พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 6 วัน เท่านั้น เชื่อได้ว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับไม่รุนแรงนัก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายร้ายแรง แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ ถือว่าการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำตาม ป.อ. มาตรา 81 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนยังมีพิรุธอยู่หลายประการ และผู้เสียหายไม่ได้เบิกความช่วยเหลือจำเลยในชั้นพิจารณานั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ. 6 ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 2 นัด ในระยะห่างเพียงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ แต่ตามใบรับรองแพทย์ เอกสารหมาย จ. 1 แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถูกยิงและถูกทำร้ายร่างกายบริเวณคอ ศีรษะ และใบหน้าแต่ก็ไม่ปรากฏว่าบาดแผลดังกล่าวมีขนาดและความลึกเท่าใด หรือแพทย์มีความเห็นว่าถ้าหากผู้เสียหายไม่ได้รับการรักษาบาดแผลทันท่วงทีผู้เสียหายจะถึงแก่ความตายหรือไม่ทั้งแพทย์มีความเห็นว่า ผู้เสียหายควรหยุดงานเพียง 8 วัน แม้จะได้ความจากผู้เสียหายว่า แพทย์ต้องผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออกจากบริเวณท้ายทอยของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายก็พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 6 วัน เท่านั้น เชื่อได้ว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับไม่รุนแรงนัก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายร้ายแรง แสดงว่าอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ถือว่าการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคหนึ่งฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง, 83 จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share