คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องฐาน ละเมิดขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนรวมกันเป็นเงิน 58,095.50 บาท แต่ จำนวนเงินที่โจทก์ที่ 1 ในฐานะ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องคือ 23,659.50บาท ซึ่ง เป็นเงินที่โจทก์ที่ 1 รับช่วงสิทธิมาจากโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนอื่นที่โจทก์ที่เรียกร้องไม่ได้เป็นจำนวน 34,400 บาท ดังนี้ หนี้ที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้ ที่โจทก์ทั้งสองแต่ ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจึงเป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีโจทก์จึงต้องห้าม ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อ ชนรถยนต์เก๋งของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 23,695.50 บาทและโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 34,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสอง ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างโจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่รถทั้งสองคันชนกันกรณีเป็นการประมาทเลินเล่อทั้งสองฝ่าย ไม่อาจเรียกค่าเสียหายแก่กันได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้ว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องฐานละเมิดขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมกันเป็นจำนวนเงิน58,095.50 บาท แต่จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ให้นั้น สำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 23,695.50 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 34,400 บาท โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาจากโจทก์ที่ 2 แล้ว และโจทก์ที่ 2 เรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนอื่นที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องไม่ได้จึงไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้ ที่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าเหตุคดีนี้รถของฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างเป็นรถที่แล่นมาและได้รับสัญญาณจราจรไฟเขียวให้ผ่านพ้นสี่แยกที่เกิดเหตุ รถโจทก์เป็นเส้นทางเดินรถในทางตรง ส่วนรถจำเลยจะเลี้ยวขวาในทางที่สวนกันต้องรอให้รถทางตรงแล่นผ่านพ้นไปเสียก่อน เมื่อปลอดภัยดีแล้วจึงชอบที่จะแล่นเลี้ยวขวาไปได้ แต่ผู้ขับขี่รถฝ่ายจำเลยหาได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 ไม่ ดังนั้นรถชนกันคดีนี้จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์ประมาทด้วยนั้นจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์.

Share