แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งถูกฟ้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จะถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่คดีนี้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลข 0 9736 2023 เป็นของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลชั้นต้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นกระแสความ กับวินิจฉัยในประเด็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว จนกระทั่งคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา จึงมิใช่กรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย ย่อมไม่อาจนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง มาใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ต่อไปได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบรถยนต์ 3 คัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 30, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคืนรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ริบรถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 รุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และคืนรถยนต์ ยี่ห้อนิสสันเซฟิโร่หมายเลขทะเบียน ฉจ 626 กรุงเทพมหานคร แก่ผู้คัดค้านที่ 1 คืนรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก – 2222 กรุงเทพมหานคร แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับนายมะสักรี และนายมะสุกรี ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่งพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร ดำเนินคดีพร้อมของกลางคือเมทแอมเฟตามีน 40,000 เม็ด รถยนต์ ยี่ห้อนิสสันเซฟิโร่ หมายเลขทะเบียน ฉจ 626 กรุงเทพมหานคร รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก – 2222 กรุงเทพมหานครรวม 3 คัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 รวม 3 เครื่องต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับพวกดังกล่าว ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นคดีหลัก ขณะคดีหลักอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งริบรถยนต์ 3 คัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้าน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีหลักว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับพวก กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับพวก อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ส่วนคดีขอให้ริบทรัพย์สินคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 และรุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน นอกจากนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย.9475/2545 หมายเลขแดงที่ ย.2347/2548 ของศาลชั้นต้นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4718/2556 ของศาลฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 3 ต่อไปหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลข 0 9736 2023 เป็นของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลชั้นต้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นกระแสความ กับวินิจฉัยในประเด็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว จนกระทั่งคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา จึงมิใช่กรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย ย่อมไม่อาจนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง มาใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ต่อไปได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 มีว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 รุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชอบหรือไม่ เห็นว่าในข้อที่ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่นั้น ผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับนายมะสักรี และนายมะสุกรีเป็นคดีหลัก โดยผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 2 ตามลำดับ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 40,000 เม็ดน้ำหนัก 3,837.580 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 656.954 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 1,600,000 บาท คดีหลักดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4718/2556 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายรี ที่ 1 นายดอรอแม ที่ 2 นายมะยูโซ๊ะ ที่ 3 นายมะสักรี ที่ 4 นายมะสุกรี ที่ 5 จำเลย โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 จึงอ้างไม่ได้ว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนข้อที่ว่ารถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 รุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า ผู้ร้องมีจ่าสิบตำรวจรณยุทธ จ่าสิบตำรวจสุเมธ จ่าสิบตำรวจธำรงศักดิ์ และร้อยตำรวจโทปพน ผู้ร่วมจับกุมมาเป็นพยาน โดยได้ความจากพยานทั้งสี่ปากของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี เป็นพาหนะในการเดินทางไปติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนในวันที่ 6 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2545 และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 ติดต่อกับผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ต่างใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 และรุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 ตามลำดับ ติดต่อกับผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน โดยเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ดังกล่าวได้จากผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ ตามบันทึกการจับกุม นอกจากนี้ผู้ร้องยังมีพันตำรวจโทพงศกร พนักงานสอบสวน มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานได้ขอข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญาจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครื่อง โดยกลุ่มงานวิเคราะห์ข่าวสรุปว่า ในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 6 ถึง 9 พฤษภาคม 2545 ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง ดังกล่าวติดต่อซึ่งกันและกัน ตามสำเนารายการใช้โทรศัพท์และแผนภูมิ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน โดยช่วงระยะเวลาการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับพวกเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนตรวจนับเงินที่ได้ในการล่อซื้อ พาสายลับกับจ่าสิบตำรวจสุเมธไปตรวจรับมอบเมทแอมเฟตามีนจากการล่อซื้อรวมถึงช่วงเวลาก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 กับนายมะสักรี และนายมะสุกรี จากพยานหลักฐานของผู้ร้องดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่า รุ่นทอล์คอะเบาท์ หมายเลข 0 9736 2023 โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย รุ่น 3350 หมายเลข 0 9524 7283 และรุ่น 3310 หมายเลข 0 9878 9666 เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ยังฎีกาต่อมาอีกว่า ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ทั้ง 3 เครื่องในการติดต่อซื้อขายยาเสพติด แผนผังการใช้โทรศัพท์ของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นการติดต่อในธุรกิจอื่นไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยาเสพติดรายนี้ด้วยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 พร้อมกับยึดได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครื่อง ไว้เป็นของกลางด้วย ซึ่งตามแผนผังการใช้โทรศัพท์ก็ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุระหว่างวันที่ 6 ถึง 9 พฤษภาคม 2545 มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครื่องดังกล่าวติดต่อซึ่งกันและกัน ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้แสดงให้เห็นว่าในการติดต่อระหว่างกันเกี่ยวกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนรายนี้ได้กระทำอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้อย่างไร กลับมุ่งเน้นว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 4 รายการดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 ล้วนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน