คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9695/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยออกเช็ครวม 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้เพราะจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค คำฟ้องดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าอะไรนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ใดจะมอบอำนาจไว้ล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเพื่อกระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสามารถจะทำได้ การมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คแก่พนักงานสอบสวน เป็นการมอบอำนาจให้กระทำกิจการอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายแม้ในขณะมอบอำนาจความผิดยังไม่เกิดผู้มอบอำนาจก็สามารถจะมอบอำนาจไว้ก่อนได้
ในขณะที่มีการมอบอำนาจนั้น โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 4 ฉบับ และขณะนั้นมีเช็ค 2 ฉบับ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้ ม. แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมก็มิได้เจาะจงให้ผู้รับมอบอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนสำหรับเช็คฉบับใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนสำหรับเช็คฉบับใดก็ได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ร่วม หากเช็คฉบับนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น เมื่อต่อมาปรากฏว่าเช็คที่เหลืออีก 2 ฉบับก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ม.จึงมีอำนาจที่จะแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดเกี่ยวกับเช็ค 2 ฉบับหลังได้ด้วย และเมื่อ ม. ได้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องได้
คดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมจริงโดยมีมูลหนี้มาจากค่าก่อสร้าง และต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ร่วมไว้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าว เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3952/2536 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา นางสาวิตรี ดวงรัตน์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปีส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3952/2536 ของศาลชั้นต้นนั้นเนื่องจากคดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง จึงนับโทษต่อไม่ได้ ให้ยกคำขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยมีว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยออกเช็ครวม 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครั้นเช็คถึงกำหนดโจทก์ร่วมเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้เพราะจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค คำฟ้องดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยครบถ้วนเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าอะไรนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ปัญหาข้อที่สองมีว่า จำเลยฎีกาว่า ในขณะที่โจทก์ร่วมมอบอำนาจตามเอกสารดังกล่าวให้แก่นายมณเฑียร ดวงรัตน์ เช็คเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเงิน ความผิดยังไม่เกิด นายมณเฑียรจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์มอบคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แก่พนักงานสอบสวน ปัญหาข้อนี้เห็นว่าผู้ใดจะมอบอำนาจไว้ล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเพื่อกระทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสามารถจะทำได้ การมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีความผิดเกี่ยวกับเช็คแก่พนักงานสอบสวนเป็นการมอบอำนาจให้กระทำกิจการอย่างหนึ่งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายแม้ในขณะมอบอำนาจความผิดยังไม่เกิด ผู้มอบอำนาจก็สามารถจะมอบอำนาจไว้ก่อนได้ตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมปรากฏว่า ในขณะที่มีการมอบอำนาจนั้น โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์ร่วมจำนวน 4 ฉบับ และขณะนั้นเช็ค 2 ฉบับ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้นายมณเฑียรแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยแทนโจทก์ร่วม ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ร่วมก็มิได้เจาะจงให้ผู้รับมอบอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนสำหรับเช็คฉบับใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนสำหรับเช็คฉบับใดก็ได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ร่วม หากเช็คฉบับนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินดังนั้นเมื่อต่อมาปรากฏว่าเช็คที่เหลืออีก 2 ฉบับ ก็ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนายมณเฑียรจึงมีอำนาจที่จะแจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดเกี่ยวกับเช็ค 2 ฉบับหลังได้ด้วย และเมื่อนายมณเฑียรได้แจ้งความร้องทุกข์และมอบคดีแก่พนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องได้

ปัญหาข้อที่สามมีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.14 อันเป็นมูลแห่งหนี้ที่จำเลยออกเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1, จ.2,จ.5 และ จ. 6 ชำระให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึงจ.14 และออกเช็คเอกสารหมาย จ.1, จ.2, จ.5 และ จ.6 ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมจริง โดยหนี้เงินกู้ดังกล่าวโจทก์ร่วมและจำเลยได้ตกลงกันแปลงหนี้จากเงินค่าก่อสร้างที่โจทก์ร่วมจ่ายแทนจำเลยไปก่อนมาเป็นหนี้เงินกู้

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.14 ไม่ได้ติดแสตมป์ให้บริบูรณ์จึงต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานจึงถือว่าไม่มีสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับอยู่เลยนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนั้น เป็นการห้ามมิให้ใช้ตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญาด้วย สำหรับคดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมจริงโดยมีมูลหนี้มาจากค่าก่อสร้าง และต่อมาจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ร่วมไว้ การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือ แล้วจำเลยได้ออกเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าว เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share