แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังตาม ป.อ. มาตรา 310 นั้นไม่ได้กำหนดว่าผู้กระทำผิดจะต้องหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเป็นเวลานานเท่าใดจึงจะเป็นความผิด หากการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นทำให้ผู้อื่นต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายแล้วก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา 310 ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ทั้งห้ากล่าวคือ ขณะที่โจทก์ทั้งห้ากำลังร่วมกันตรวจนับสต๊อกสินค้าอยู่ภายในร้านรองเท้าบาจา สาขาลำปาง 1 นั้น จำเลยทั้งสองร่วมกันปิดประตูเหล็กยืดหน้าร้านดังกล่าว และใส่กุญแจทำให้โจทก์ทั้งห้าต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยไม่มีทางออกจากร้านได้ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 310, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ปิดประตูเหล็กยืดหน้าร้านรองเท้าโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ทั้งห้ายังตรวจนับสต๊อกรองเท้าอยู่ภายในร้านโดยไม่มีทางออกอื่น จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งห้าไม่สามารถออกจากร้านรองเท้าดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าตนเพียงออกไปรับประทานอาหารโดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง จึงไม่มีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพนั้น เห็นว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 ไม่ได้กำหนดว่า ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น ผู้กระทำผิดจะต้องหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเวลานานเท่าใดจึงจะเป็นความผิด หากหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายแล้วก็มีความผิด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.