แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์และส. เป็นหนังสือพร้อมลงลายมือชื่อจำเลยแล้วย่อมมีผลผูกพันจำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์และส. เจ้าหนี้ร่วมสิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียวซึ่งโจทก์และส. มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากจำเลยโดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา298จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและรับราคาที่ค้างจากโจทก์การที่โจทก์แต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างแก่จำเลยโดยส.ไม่ได้ร่วมมารับโอนด้วยไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ไม่ได้ จำเลยมิได้ยกข้อสัญญาข้อ3ขึ้นให้การต่อสู้การที่ศาลชั้นต้นยกข้อสัญญาดังกล่าวมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังนั้นที่จำเลยยกข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นข้อฎีกาต่อมาจึงถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้แก่โจทก์ต่ำไปโจทก์ต้องการให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้กำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์จำนวนสูงขึ้นโจทก์จะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา247บัญญัติไว้โจทก์จะอาศัยคำแก้ฎีกาในการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาจำนวนสูงขึ้นหาได้ไม่ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยคำขอของโจทก์ดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 5589 จังหวัดลำปาง บางส่วนเนื้อที่ 72 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ และนายสุรสิทธิ์อินทญาติ ในราคา 300,000 บาท จำเลยได้รับชำระราคาที่ดินไปแล้ว200,000 บาท ส่วนที่เหลือกำหนดชำระเมื่อจำเลยได้รับโฉนดที่ดินและจดทะเบียนแบ่งโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์และนายสุรสิทธิ์เดือนธันวาคม 2535 จำเลยได้รับโฉนดที่ดิน โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยรับชำระราคาที่เหลือพร้อมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์จำเลยอ้างว่าไม่พร้อม โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยปฎิบัติตามสัญญา แต่จำเลยเพิกเฉย สัญญาจึงเลิกกันตามข้อสัญญาจำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมชำระค่าสินไหมทดแทนอีก 3 เท่าตามข้อสัญญา แต่โจทก์ขอเพียง 400,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า วันนัดโอนกรรมสิทธิ์ฝ่ายผู้ซื้อซึ่งประกอบด้วยโจทก์และนายสุรสิทธิ์นั้น มีโจทก์ไปเพียงคนเดียว โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากนายสุรสิทธิ์ให้โจทก์ดำเนินการรับโอนที่ดินแทนจำเลยจึงไม่สามารถจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน250,000 บาท (เงินมัดจำ จำนวน 200,000 บาท กับค่าสินไหมทดแทนตามข้อสัญญาอันเป็นเบี้ยปรับ จำนวน 50,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 มิถุนายน 2536)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาประการแรกมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ และนายสุรสิทธิ์เป็นหนังสือ พร้อมลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญแล้วย่อมมีผลผูกพัน จำเลยจำต้องชำระหนี้แก่โจทก์ และนายสุรสิทธิ์เจ้าหนี้ร่วมสิ้นเชิงแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งโจทก์และนายสุรสิทธิ์มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากจำเลยโดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 298 ดังนั้น คำพิพากษาฎีกาที่ 911/2501 ระหว่างนายป้อมรักษาธรรม กับพวก โจทก์ นายเขียน สมใจ จำเลย ดังนั้นโจทก์แต่ผู้เดียวจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้สิ้นเชิงคือเรียกร้องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และรับชำระราคาที่ค้างจากโจทก์ การที่โจทก์แต่ผู้เดียวมาขอรับโอนที่ดินและชำระราคาที่ค้างแก่จำเลยโดยนายสุรสิทธิ์ไม่ได้ร่วมมารับโอนด้วยนั้นไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยจะโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์ไม่ได้ และจำเลยจะอ้างว่าฝ่ายโจทก์ผู้จะซื้อผิดสัญญาด้วยเหตุดังกล่าวหาได้ไม่ ฉะนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินมัดจำและรับผิดชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 6 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับส่วนที่สูงเกินส่วนลงให้แล้ว
สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับข้อสัญญาข้อ 3 นั้น ปรากฎว่าจำเลยมิได้ยกข้อสัญญาข้อ 3 ขึ้นให้การต่อสู้ การที่ศาลชั้นต้นยกข้อสัญญาดังกล่าวมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าจำเลยยังไม่ได้ผิดสัญญาจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ฉะนั้นที่จำเลยยกข้อวินิจฉัยดังกล่าวมาเป็นข้อฎีกาต่อมาจึงถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกากำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นเบี้ยปรับให้โจทก์ในจำนวนที่สูงกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้แก่โจทก์ต่ำไป โจทก์ต้องการให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้กำหนดให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์จำนวนสูงขึ้น โจทก์จะต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อศาลฎีกาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 บัญญัติไว้ โจทก์จะอาศัยคำแก้ฎีกาในการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์จำนวนสูงขึ้นหาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยโจทก์ดังกล่าว
พิพากษายืน