คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9693/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว ผู้เสียหายกับพวกเข้าไปจับกุมจำเลยทั้งสาม โดยใช้รถยนต์ 2 คัน คันหนึ่งขับไปขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ และรถยนต์อีกคันหนึ่งที่มีผู้เสียหายนั่งมาด้วยขับไปขวางทางด้านหลัง ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนด้านหลังรถยนต์ของจำเลยที่ 1 พร้อมพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพุ่งตรงไปทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายกระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับชนทางด้านหน้าของรถยนต์ พันตำรวจโท ฉ. ที่ขวางอยู่ด้านหลังได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายซึ่งยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตร ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 289 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 7, 8, 10, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 288, 289 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2)), 66 วรรคสอง, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกกระทงละ 4 ปี และปรับกระทงละ 400,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานกับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประกอบมาตรา 52 (1) ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ส่วนข้อหาอื่นก็นำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กึ่งหนึ่ง ส่วนข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 37 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และปรับ 400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และปรับ 400,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 แต่ให้กักขังไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ให้จำคุก 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน รวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยเบิกความยอมรับว่าท้องฟ้ายังไม่มืด ผู้เสียหายลงจากรถยนต์มายืนทางด้านหลังรถยนต์จำเลยที่ 1 พร้อมกับพูดแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจับกุมด้วยเสียงดัง และขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังพวกของจำเลยที่ 1 ที่นั่งอยู่ทางด้านซ้ายใช้อาวุธปืนปลอมยิงมาทางผู้เสียหาย จึงเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่า ผู้เสียหายยืนอยู่ทางด้านหลัง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีอาการตกใจ แต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหาย พันตำรวจโทฉลอง และจ่าสิบตำรวจเสกสรร พยานโจทก์ว่า รถยนต์ที่จอดขวางอยู่ทางด้านหน้ามีช่องว่างให้จำเลยที่ 1 สามารถขับรถยนต์หลบหนีไปได้ทันทีทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา โดยไม่ต้องขับรถยนต์ถอยหลังก่อน การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบ รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับอาจชนผู้เสียหายที่ยืนอยู่ทางด้านหลังในระยะห่างเพียง 5 เมตรได้ และรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับดังกล่าวถอยหลังไปชนกับรถยนต์ที่พันตำรวจโทฉลองจอดขวางอยู่ทางด้านหน้ารถยนต์เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ และรถยนต์ของพันตำรวจโทฉลองตามภาพถ่าย ในส่วนที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันแล้วจะเห็นได้ว่าได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ถอยหลังด้วยความเร็ว ซึ่งหากผู้เสียหายไม่กระโดดหลบอาจชนผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share