คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาข้อกฎหมายว่า การค้นและการสอบสวนไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ แม้หมายค้นจะระบุให้พันตำรวจโท ป. กับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก และพันตำรวจโท ป. ได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอ จึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโท ป. ค้นบ้านจำเลยนั่นเอง การตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้
ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง จึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67,100/1,102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 138 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอัยการสูงสุดซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดข้อหาต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 450,000 บาทฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 7 ปี และปรับ 450,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 14 ปี 6 เดือน และปรับ 900,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 9 ปี 8 เดือน และปรับ 600,000 บาท ริบกระสุนปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้หมายค้นระบุให้พันตำรวจโทปรีชากับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก หมู่ที่ 19 ถนนบรมราชชนนี (ขาออก) แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้านป.ผาสุก และพันตำรวจโทปรีชาได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอจึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโทปรีชาค้นบ้านจำเลยนั่นเองการตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้ สำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่แจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำก่อนแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 การสอบสวนจึงไม่ชอบนั้นเห็นว่า บทบัญญัติที่จำเลยอ้างเป็นไปตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่มีการแก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลังจึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับและกำหนดโทษปรับสุทธิเหลือ 600, 000 บาท โดยไม่ได้ระบุว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้กักขังเกิน 1 ปี ด้วยหรือไม่ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี

Share