คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9637/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามมาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจโท ฉ. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทำให้ร้อยตำรวจโท ฉ. ออกหมายเรียกโจทก์เป็นผู้ต้องหาและรับคำร้องทุกข์ไว้ ความจริงแล้วโจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาและให้ถ้อยคำ แต่จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบของความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับความเท็จที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาโจทก์และให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจโท ฉ. นั้นเป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ส่วนสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารท้ายฟ้อง มีสาระเพียงว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ร้อยตำรวจโท ฉ. รับคำร้องทุกข์ของจำเลยตามที่กล่าวหาโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไว้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 18 เวลา 16.15 นาฬิกา ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 มิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยว่าเป็นอย่างใด ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 174 วรรคสองอีกด้วย ฟ้องของโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง จำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 จึงเป็นฟ้องที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง โดยมิได้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 137 และมาตรา 173 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ ดังนั้นความผิดตามมาตรา 137 และมาตรา 173 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 137 และมาตรา 173 อีกต่อไปได้ ฎีกาของโจทก์ในความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนความผิดตามมาตรา 172 และมาตรา 174 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อร้อยตำรวจโทฉัตรเพชร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ทำให้ร้อยตำรวจโทฉัตรเพชรออกหมายเรียกโจทก์เป็นผู้ต้องหาและรับคำร้องทุกข์ไว้ ความจริงแล้วโจทก์มิได้กระทำความผิดตามที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาและให้ถ้อยคำ แต่จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาหลักทรัพย์มาประกันตัวและเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นั้น เป็นการบรรยายฟ้องว่า มีการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดเท่านั้น มิได้บรรยายกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับความเท็จที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาโจทก์และให้ถ้อยคำต่อร้อยตำรวจโทฉัตรเพชรนั้นเป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ อย่างไร ส่วนสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีสาระเพียงว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 ร้อยตำรวจโทฉัตรเพชรรับคำร้องทุกข์ของจำเลยตามที่กล่าวหาโจทก์กับพวกร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ไว้ ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ข้อ 18 เวลา 16.15 นาฬิกา ของวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 มิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยว่าเป็นอย่างใด ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดของมาตรา 174 วรรคสอง อีกด้วย ฟ้องของโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share