คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า
แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีอันเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 31 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 กำหนดไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้นำสืบถึงรายละเอียดในกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศที่เกิดความเสียหายมาตรา 31 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจจำกัดความรับผิดได้ตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 28 เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหาย แล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่าไม่
แม้จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์ว่าคดีอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีอยู่ภายในบังคับ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองเรือซึ่งต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหาย และเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสามารถจำกัดความรับผิดได้โดยรับผิดในความเสียหายไม่เกินจำนวน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,128,426.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 5,023,146.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ทั้งนี้จำนวนต้นเงินต้องไม่เกิน 4,858,471.99 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหรือกระทำการเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยเข้าทำสัญญาแทนตัวการ และต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งหรือไม่ เห็นว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ในการรับจองระวางเรือ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งนั้น ปรากฏชัดแจ้งจากข้อความในเอกสารใบตราส่งว่า เป็นใบตราส่งของจำเลยที่ 2 เองโดยได้ใช้ชื่อทางการค้าว่า “MAERSK LINE” (เมอส์ก ไลน์) ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ในคำนิยามของคำว่า ผู้ขนส่งที่ด้านหลังใบตราส่งแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ลงชื่อในใบตราส่งดังกล่าวเอาไว้ แต่ก็ได้ระบุเอาไว้ชัดแจ้งว่าเป็นการลงชื่อเพื่อจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งใช้ชื่อทางการค้าว่า “Maersk Line” และลงชื่อในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง (Signed for the Carrier A.P Moller – Maersk A/S trading as Maersk Line/MAERSK LINE (ThAiland) LTD. As Agent(s) for the (Carrier) จึงเป็นการออกใบตราส่งให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 2 หาได้กระทำในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งในสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ นอกจากนี้ ตามสำเนาใบรายการสินค้าส่งออกและใบกำกับภาษีและสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ. 17 ที่เป็นเอกสารแสดงรายการเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งและรายการเรียกเก็บเงินค่าบริการขนส่ง ก็เป็นเอกสารของจำเลยที่ 2 โดยเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 เรียกเก็บค่าบริการต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวจากโจทก์ ซึ่งก็สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า เงินที่ได้เรียกเก็บจากโจทก์เป็นค่าบริการในการขนส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้น จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เรียกเก็บจากโจทก์และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 จะได้ค่าจ้างเรียกว่าค่าบำเหน็จตัวแทนหรือ “Agent Fee” ซึ่งจำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บจากจำเลยที่ 2 ในภายหลัง ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการเป็นผู้ขนส่งในสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งเอกสารหมาย ข้อ 4.2 กำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนว่า ผู้ประกอบการพาณิชย์ซึ่งหมายถึงผู้ส่ง ผู้ถือสิทธิในใบตราส่ง ผู้รับตราส่ง ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ได้รับสิทธิในการครอบครองสินค้า หรือตัวการหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อันเกิดจากผิดสัญญาหรือละเมิดหรือประการอื่นใดจากตัวแทนของผู้ขนส่ง จึงเท่ากับโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งได้ตกลงกันยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศเพราะต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งที่กำหนดเอาไว้ในใบตราส่ง ข้อ 4.2 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอันเป็นข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งหรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องตามใบตราส่งเอกสาร จำเลยที่ 2 รับมอบสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ลาดกระบัง ประเทศไทย และถูกขนส่งลงเรือเมอส์ก เคนดัล ของจำเลยที่ 2 ที่แหลมฉบัง ประเทศไทย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ขนถ่ายสินค้าดังกล่าวลงเรือซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เวอร์เลน ของจำเลยที่ 3 และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2553 เรือซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เวอร์เลน ของจำเลยที่ 3 ได้ชนกับเรือซิม โอเดสสา สตาร์ ของจำเลยที่ 4 ที่ท่าเรืออีฟยาฟ ประเทศสาธารณรัฐตุรกี ทำให้สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหาย ดังนั้น ย่อมแสดงว่าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งได้รับความเสียหายขณะที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 20 จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของนั้น ดังนั้น เมื่อปรากฏตามใบตราส่งว่า ท่าเรือปลายทางคือ เมืองโอเดสสา ประเทศยูเครน การที่สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งได้รับความเสียหายก่อนที่จะส่งมอบของที่ท่าเรือปลายทางจึงเป็นกรณีที่เหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง การที่จำเลยที่ 2 จะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวก็ต่อเมื่อมีเหตุยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อยกเว้นความรับผิดดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้นายฐิระพล พยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำว่า ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดจากการที่เรือซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เวอร์เลน ของจำเลยที่ 3 ชนกับเรือซิม โอเดสสา สตาร์ ของจำเลยที่ 4 ที่ท่าเรืออีฟยาฟ ประเทศสาธารณรัฐตุรกี ทำให้สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ซึ่งเห็นได้ว่าถ้อยคำของนายฐิระพลพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว คงให้ถ้อยคำแต่เพียงว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดจากเรือของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ชนกันเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าเหตุชนกันดังกล่าวเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดในการเดินเรือของผู้ควบคุมเรือของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง หรือผู้ควบคุมเรือของจำเลยที่ 4 หรือเกิดจากทั้งสองฝ่าย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดในการเดินเรือของจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง อันจะเป็นเหตุให้เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 (7) (ก) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจึงต้องรับผิดสำหรับความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งต่อโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายนั้นมีราคาเท่าใด ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งมีราคาที่แท้จริงคือราคา 1,228,669.46 บาท เท่านั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสินค้าดังกล่าวมีราคา 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่ถูกต้องนั้น นางสาววรินทร์ยา พยานโจทก์ให้ถ้อยคำในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า โจทก์ขายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายตรา “OK” ให้แก่บริษัทยูโรทรานส์ จำกัด ในราคาซีแอนด์เอฟ 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบกำกับราคาสินค้าและใบบรรจุหีบห่อ (Invoice/Packing List) เมื่อเกิดเหตุเรือโดนกันทำให้ตู้สินค้าจำนวนประมาณ 5 ตู้ ตกไปในทะเล น้ำทะเลเข้าไปในระวางเรือซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เวอร์เลน ตู้สินค้าในระวางเรือแช่น้ำทะเล ตามภาพถ่ายความเสียหายของเรือ ผู้สำรวจความเสียหายได้จัดทำรายงานการสำรวจความเสียหายและถ่ายรูปไว้ ตามรายงานการสำรวจความเสียหายพร้อมคำแปลและตามรายงานการสำรวจความเสียหายพบว่าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายของโจทก์จำนวน 318 มัด เปียกชุ่มและบวมจากการแช่น้ำทะเลอยู่หลายวัน ผู้ซื้อปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีนายฐิระพล ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำในเรื่องดังกล่าวในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ราคาสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายที่โจทก์ซื้อจากผู้ผลิตจำนวน 3 ราย เป็นราคาที่ไม่รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นนั้น เห็นว่า ราคาดังกล่าวกลับมีราคาต่อหน่วยใกล้เคียงกับราคาที่โจทก์ระบุไว้ในใบเสนอราคาขายสินค้า (Proforma Invoice) พร้อมคำแปล คือราคาตัวละ 4.77 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่โจทก์ขายให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์จะไม่ได้กำไรจากการขายสินค้านั้น อันผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจ น่าเชื่อว่าต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายควรจะเป็นเงินจำนวน 1,228,669.46 บาท ดังที่โจทก์แสดงไว้ตามสำเนาใบขนสินค้าขาออก เมื่อเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายที่ขนส่งทั้งหมดได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงเนื่องจากเปียกน้ำทะเล และได้ความว่าในใบเสนอราคาขายสินค้า (Proforma Invoice) และใบกำกับราคาสินค้าและใบบรรจุหีบห่อ (Invoice/Packing List) ได้ระบุราคาสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเอาไว้ตรงกันคือราคา 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นราคาที่ซื้อขายกันในเงื่อนไข ซีแอนด์เอฟ ซึ่งเป็นราคาสินค้าที่ส่งมอบที่ท่าปลายทางซึ่งจะรวมราคาสินค้าและค่าขนส่งเข้าไว้ด้วยแล้ว จึงย่อมมีความแตกต่างจากราคาสินค้าดังกล่าว ตามสำเนาใบขนสินค้าขาออกเอกสารหมาย ล. 1 ที่จำเลยที่ 2 อ้างซึ่งเป็นราคา เอฟโอบี อันเป็นราคาสินค้าที่ท่าต้นทางเพียงอย่างเดียว ส่วนการที่ราคาสินค้าดังกล่าวซึ่งปรากฏในใบเสนอราคาขายสินค้า (Proforma Invoice) และใบกำกับราคาสินค้าและใบบรรจุหีบห่อ (Invoice/Packing List) จะมีราคาใกล้เคียงกับที่โจทก์สั่งซื้อจากผู้ผลิตทั้งสามรายภายในประเทศหรือไม่ ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญแต่อย่างใด หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายยินดีจะขายสินค้าในราคาตามที่ระบุไว้ใน หากจำเลยที่ 2 เห็นว่าราคาสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายตามที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ก็คงไม่เป็นการยากที่จำเลยที่ 2 จะนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นแตกต่างออกไป เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้ออ้างของโจทก์เกี่ยวกับราคาสินค้าดังกล่าวจำนวน 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ ย่อมรับฟังได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายมีราคา 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิด ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีอันเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 31 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมเป็นไปที่ตามพระราชบัญญัติกรขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 กำหนดไว้ในหมวด 1 สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ส่วนที่ 4 ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและการคิดค่าเสียหาย ซึ่งมาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 32 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบไว้สูญหายหรือเสียหาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายหรือเสียหายแล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่า” แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้นำสืบถึงรายละเอียดในกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศที่เกิดความเสียหายตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ได้ ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก็ตาม ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจจำกัดความรับผิดได้ ตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 28 เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายแล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่าไม่ เมื่อสินค้าตามใบตราส่งระบุว่ามีจำนวน 318 มัด อันถือเป็นหน่วยการขนส่ง หรือมีน้ำหนักจำนวน 23,850 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจึงสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวโดยเมื่อคำนวณตามจำนวนสินค้า 318 มัด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวน 318 หน่วยการขนส่งคูณด้วย 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน แล้วจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในความเสียหายจำกัดจำนวนไม่เกิน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน อันเป็นการคำนวณตามหน่วยการขนส่งซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการคำนวณตามน้ำหนักของสินค้าที่ขนส่งจำนวน 23,850 กิโลกรัม คูณ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 47,700 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า คดีนี้อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 4 ได้ให้คำนิยามคำว่า การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ว่าหมายความว่า การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติตามใบตราส่ง ที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 2 ว่า ใบตราส่งฉบับนี้ได้ระบุสถานที่รับของว่า ลาดกระบัง ประเทศไทย และท่าเรือปลายทางระบุว่า โอเดสสา ประเทศยูเครน การขนส่งสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของผู้ชายในคดีนี้จึงเป็นการรับขนของทางบกและทางทะเล อันเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของคือ ลาดกระบัง ประเทศไทย ไปยังสถานที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง คือ ประเทศยูเครน ตรงตามคำนิยามของคำว่า การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ดังนั้น คดีนี้จึงตกอยู่ภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 หาใช่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราช บัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า หากศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ต้องนำพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาใช้บังคับ จำเลยที่ 3 ก็สามารถจำกัดความรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งได้ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติโดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองเรือซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เวอร์เลน โดยนำเรือดังกล่าวเข้าร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 2 และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปในช่วงระหว่างท่าเรือแทนจุงเปเลปาส ถึงท่าเรือโอเดสสา จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่ขนส่งด้วย และเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสามารถจำกัดความรับผิดได้โดยรับผิดในความเสียหายไม่เกินจำนวน 212,011.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 2 และต้องรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตามพระราชบัญญัติขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 148,079 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้นเงินจำนวนดังกล่าวต้องไม่เกินกว่าจำนวน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน และต้นเงินจำนวนดังกล่าวต้องไม่เกินค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายจำนวน 4,858,471.99 บาท ตามคำฟ้อง หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share