คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. จำเลยที่ 1 ก็เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่บุคคลใดโดยทายาทผู้ได้รับทรัพย์มรดกไม่ยินยอม แม้จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่โจทก์ทั้งห้ามาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว แต่การโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1125 ตำบลแคราย (ปลายคลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเชิญและบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน โอนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากการเพิกถอนนิติกรรมไม่สามารถกระทำได้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 13,800,000 บาท แทน และบังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเชิญจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2534 (ที่ถูกวันที่ 23 เมษายน 2534) ให้นายเพยาว์ กับนางชุติมา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวน 2,000,000 บาท จากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน โอนบ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 2 ตำบลแคราย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ที่ปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 1125 ให้แก่โจทก์ทั้งห้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางสาวอุทัยวรรณ ทายาทของโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และโจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนายสุทิน ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1125 ตำบลแคราย (ปลายคลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2537 และให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางเชิญ หากดำเนินการไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 6,900,000 บาท แก่โจทก์ทั้งห้าแทน โดยให้ยึดทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 นำมาชำระหนี้โจทก์ทั้งห้าจนครบถ้วน ในส่วนทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ทั้งห้า และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งห้าชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการฉ้อฉลหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่พิพาทโดยไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญและจำเลยที่ 2 ฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ฟ้องขอให้ทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาตามยอมจึงยังผูกพันจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางเชิญทำพินัยกรรมยกที่ดินที่พิพาทแก่นายอิน เมื่อนางเชิญตายที่ดินที่พิพาทจึงตกเป็นของนายอิน ต่อมานายอินทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า เมื่อนายอินตายที่ดินที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าในทันทีแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเชิญ จำเลยที่ 1 เพียงแต่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของนางเชิญแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งห้าไปขายให้บุคคลใด โดยทายาทผู้ได้รับทรัพย์มรดกไม่ยินยอม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทที่ตกได้แก่โจทก์ทั้งห้าไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งห้า ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ว่าจะซื้อที่ดินดังกล่าวโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินที่พิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งห้ามาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เพราะการที่จะเป็นเรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น จำเลยที่ 1 ผู้โอนจะต้องมีสิทธิโอนอยู่แล้ว และการโอนทำให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งห้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิ เมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท อันเป็นไปตามหลักที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งห้าให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ทั้งห้ามิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2675/2537 ของศาลแพ่งธนบุรีนั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้โดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share