คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14225/2558

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และ ป. ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อหุ้นดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และ ป. โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทก็ทราบเรื่องดังกล่าวดีตั้งแต่วันนั้น ถือว่าบริษัททราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามใช้ยันกับบริษัทได้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว แม้จะไม่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ตาม และเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทดังกล่าวที่จะต้องไปจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทมีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นย่อมมีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมด้วย และที่ประชุมก็มีมติให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของหุ้น และกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียหายเนื่องจากไม่สามารถคัดค้านเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมทั้งสามย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงในกรณีนี้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายฟิลิป ผู้เสียหายที่ 1 บริษัททรี เอซ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 และนายสตีเว่น ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) (ที่ถูก ต้องระบุประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย) จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และนายปราโมททำหนังสือสัญญาโอนหุ้นให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อหุ้นดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 และนายปราโมท โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทเอทูซี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ก็ทราบเรื่องดังกล่าวดีตั้งแต่วันนั้น ถือว่าบริษัทดังกล่าวทราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามใช้ยันกับบริษัทได้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว แม้จะไม่ได้มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ตาม และเป็นหน้าที่ของกรรมการของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องไปจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น แต่หามีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ เมื่อบริษัทเอทูซี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 และครั้งที่ 2 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ย่อมมีผลทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมด้วย และที่ประชุมก็มีมติให้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของหุ้น และกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตามรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและข้อบังคับของบริษัทที่แก้ไขใหม่เพิ่มเติม จึงทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียหายเนื่องจากไม่สามารถคัดค้านเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมทั้งสามย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงในกรณีนี้ที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวได้ หาใช่เป็นกรณีที่มีการโอนหุ้นกันโดยบริษัทไม่ทราบ หากยังไม่มีการจดแจ้งชื่อลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นจะใช้ยันบริษัทไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม อันเป็นผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามยังไม่เป็นผู้ถือหุ้นและไม่เป็นผู้เสียหายดังที่จำเลยทั้งสองอ้างมาในฎีกาไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวทราบตั้งแต่แรกแล้วมีการโอนหุ้นให้โจทก์ร่วมทั้งสามก่อนมีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ให้มีการจดแจ้งลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพื่อมิให้มีการแจ้งให้โจทก์ร่วมทั้งสามทราบและเข้าประชุม ย่อมทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียสิทธิเข้าร่วมประชุมดังกล่าว จึงเป็นการไม่ลงข้อความสำคัญในเอกสารบริษัทเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ที่ควรได้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเป็นพยานในการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และนายปราโมท กับโจทก์ร่วมทั้งสาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นกรรมการบริษัทเอทูซี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มีหน้าที่ต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายด้วยความระมัดระวังและต้องรับผิดชอบร่วมกันในการจัดให้มีและรักษาไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 และบริษัทดังกล่าวก็มีกรรมการเพียง 2 คน คือ จำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท และเป็นชาวต่างประเทศไม่สามารถฟัง พูด อ่านและเขียนภาษาไทยได้ ทั้งไม่มีความรู้กฎหมายไทยด้วย ในการบริหารกิจการของบริษัทดังกล่าวก็มีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จึงต้องอาศัยจำเลยที่ 2 กรรมการอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยที่มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศเนื่องจากจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทดังกล่าวมาด้วยกัน ย่อมมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองต้องปรึกษาหารือเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทที่ก่อตั้งมาด้วยกันโดยตลอด จำเลยที่ 2 จึงต้องทราบถึงฐานะการเงินของบริษัทเป็นอย่างดี รวมทั้งการนำเงินมาใช้จ่ายในกิจการของบริษัทว่าจำเลยที่ 1 ได้มาอย่างไร นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2547 และครั้งที่ 2/2547 ในเดือนพฤศจิกายน 2547 เพื่อให้มีการแก้ไขข้อบังคับของบริษัทก่อนที่จะมีการจดแจ้งให้ชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นในเดือนธันวาคม 2547 ย่อมเป็นการส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการโอนหุ้นให้โจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าวมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) ที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดจึงฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้เสียประโยชน์อันควรได้เนื่องจากหลังจดแจ้งโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนหุ้นบริษัทแล้ว ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทที่มีการแก้ไข จึงไม่เป็นความผิดนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีหลักฐานส่วนนี้มาแสดงให้เห็นว่าเป็นดังที่อ้าง และยังได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 1 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ปัจจุบันโจทก์ร่วมทั้งสามได้เปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทแล้ว ข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ ฎีกาข้ออื่นก็ไม่เป็นสาระสำคัญที่จะทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานและข้ออ้างในฎีกาของจำเลยทั้งสองย่อมหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษ นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัท จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ แสดงว่า หลังจากจำเลยทั้งสองมีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทก่อนถึงวันที่มีการจดแจ้งชื่อโจทก์ร่วมทั้งสามในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามข้อบังคับดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียประโยชน์อันควรได้ไม่มากนัก ทั้งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและโจทก์ร่วมทั้งสามต่างก็มีคดีฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญากันหลายเรื่อง ในที่สุดก็มีการเจรจาไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทกันได้และทำบันทึกข้อตกลงยุติระงับข้อพิพาทกันโดยแต่ละฝ่ายจะไปถอนฟ้องกัน ตามสำเนาบันทึกดังกล่าวเอกสารแนบท้ายฎีกา ซึ่งก็ตรงกับที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำแถลงลงวันที่ 15 ธันวาคม 2553 และสำเนาบันทึกแนบท้ายคำแถลงดังกล่าว จึงฟังได้ว่ามีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจริง แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้ลงชื่อตกลงในบันทึกดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นการแสดงถึงความสำนึกที่ดีของจำเลยทั้งสองในการที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างกัน นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกของจำเลยทั้งสอง จึงสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษสักครั้ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 50,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกของจำเลยทั้งสองให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share