คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2525ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 12 กรกฎาคม 2525 ครั้นวันที่ 10มิถุนายน 2525 อัยการฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวกัน แต่ขอให้ลงโทษตาม มาตรา 391 จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลย การที่ศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 33 ก็ต่อเมื่อปรากฏต่อศาลโดยศาลรู้เองหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษาว่าอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องเรื่องเดียวกันหรือต่างศาลกัน เมื่อศาลไม่รู้ดังกล่าว และการกระทำความผิดของจำเลยตามที่ผู้เสียหายฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ สิทธิของผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำความผิดกรรมเดียวกันนี้ พนักงานอัยการได้ฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2525 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 12 กรกฎาคม 2525 ครั้นวันที่ 10 มิถุนายน 2525 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดกรรมเดียวกันนี้ แต่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลย 300 บาทตามสำนวนของศาลจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่) คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 166/2525 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติว่า”สิทธินำคดีอาญาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้ ฯลฯ (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า ทั้งพนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต่างมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 และในกรณีที่พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันเมื่อศาลเห็นชอบโดยพลการ หรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษาตามมาตรา 33 แสดงว่าศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ ก็ต่อเมื่อความปรากฎต่อศาลโดยศาลรู้เองหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษาว่า พนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันในศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน คดีนี้ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้รู้ว่ามีเหตุที่จะรวมพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ฉะนั้นเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share