แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นระบุพยานก่อนวันเริ่มต้นสืบพยานเพียง 2 วัน ถือว่าการยื่นระบุพยานของจำเลยฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 ซึ่งกำหนดให้ยื่นก่อนวันเริ่มต้นสืบพยาน 3 วันคือ 3 วันเต็ม แต่หากคดีมีเหตุสมควร เพื่อความยุติธรรมศาลก็อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานนั้นได้
ย่อยาว
ได้ความว่า ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 30 สิงหาคม 2491 จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานในวันที่ 27 สิงหาคม 2491 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต ถึงวันนัดได้สืบพยานโจทก์ 2 ปาก แล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ในระหว่างนั้นโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยไม่ถูกต้องจึงไม่ยอมรับฟังพยานจำเลย งดสืบพยานโจทก์ต่อไป พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จริง แต่กรณีมีเหตุสมควรผ่อนผันให้จำเลย ให้รับใบระบุพยานให้จำเลยตามมาตรา 87 ยก คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รับสืบพยานจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การยื่นใบระบุพยานของจำเลยฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 จริง เพราะถือว่าวันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันเริ่มต้นสืบพยาน จำเลยจะต้องยื่นก่อนไม่น้อยกว่า 3 วัน คือ 3 วันเต็ม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 วรรค 2 ให้อำนาจศาลที่จะรับฟังพยานหลักฐานอันฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวได้ เห็นว่าจำเลยมิได้จงใจฝ่าฝืน ยื่นช้าไปเพียงวันเดียวโดยรู้เท่าไม่ถึงการ และชั้นแรกศาลก็สั่งรับ และคดีมีเหตุเพื่อความยุติธรรมสมควรรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยในคดีนี้ได้
พิพากษายืน