แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำผิดฐานใช้เรือบรรทุกน้ำมันดีเซลซึ่งผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27,32เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ และรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานผู้จับและมีสิทธิเพียงได้รับเงินรางวัล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 6,7,8 และ 9 ผู้จับมิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดตามฟ้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)แม้ผู้ร้องจะมีส่วนได้เสียในคดี โดยหากโจทก์ชนะคดีผู้ร้องจะได้รับเงินบำเหน็จรางวัลตาม พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดก็ดี และหากโจทก์แพ้คดีผู้ร้องจะไม่ได้รับบำเหน็จรางวัลก็ดี การที่ผู้ร้องจับจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกเจ้าของเรือของกลางซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสามฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาก็ดี แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นตามที่ผู้ร้องอ้าง แต่ปัญหาเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญานั้นมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 และ 31เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้วการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่อาจจะมีได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้ และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 57(1)(2) ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะอำนาจฟ้องดังกล่าวถือว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากคดีสองสำนวนนี้กับสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่775/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 775/2536 เป็นจำเลยที่ 1และจำเลยทั้งสองสำนวนนี้เป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 775/2536 ของศาลชั้นต้นออกจากสารบบความคดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เรือบรรทุกนำมันดีเซล (น้ำมันโซล่า) ซึ่งผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียค่าภาษีอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32 และพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ริบของกลางกับจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
ระหว่างการพิจารณา พันตำรวจโทยงยศ เทียมประชา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายโดยเป็นผู้ร่วมจับกุมและเป็นผู้สืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ผู้ร้องถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดเซาท์ไทยอิมปอร์ตเอกซ์ปอร์ตซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ร้อง ผลแห่งคดีทั้งสองสำนวนอาจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ซึ่งผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลที่จะต้องเสียภาษีอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าวขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 เห็นว่าการกระทำผิดดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ และรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานผู้จับและมีสิทธิเพียงได้รับเงินรางวัล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7, 8 และ 9 ผู้จับมิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดตามฟ้องผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีหากโจทก์ชนะคดีผู้ร้องจะได้รับเงินบำเหน็จรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดหากโจทก์แพ้คดีผู้ร้องจะไม่ได้รับบำเหน็จรางวัลก็ดี การที่ผู้ร้องจับจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกเจ้าของเรือของกลางซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสามฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาก็ดี ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลของคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และ(2) นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาแต่ปัญหาเรื่องการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญานั้นได้มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 และ 31เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น นอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้ว การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่อาจจะมีได้ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้ และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1)(2) ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะอำนาจฟ้องดังกล่าวถือว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้
พิพากษายืน