คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14487/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ซึ่งกฎกระทรวงและแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาและแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ตามลำดับ แม้จะมีพื้นที่บางส่วน เช่น ที่ดินพิพาท ปรากฏว่าอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามก็ไม่มีผลทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่มีสภาพบังคับเพราะเหตุผลและวัตถุประสงค์ ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน อำนาจในการดูแลจัดการหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างกัน และตราบใดที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ยังมิได้นำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทก็ยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จะนำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มีสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้ ได้กำหนด ให้มีการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อพิสูจน์ว่าราษฎรอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ให้กรมป่าไม้จัดทำขอบเขตที่อยู่อาศัยและทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด…ฯลฯ ส่วนกรณีราษฎรอยู่อาศัยและทำกินหลังวันประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ตามสำเนากฎกระทรวงฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแผนที่แนบท้าย ดังนั้นราษฎรที่จะได้รับประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 แต่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจาก ว. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยเมื่อปลายปี 2540 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลัง แล้วเสร็จในปี 2545 จึงเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการประกาศกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 338,044.92 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 238,854.77 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทอยู่บริเวณหมู่บ้าน กม.80 หมู่ที่ 4 ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำเลยได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านพัก 1 หลัง ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และปลูกหญ้ารอบบ้าน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานเข้าไปตรวจยึดบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง และจับกุมจำเลย แต่คดีอาญาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย โดยมีความเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด โจทก์ประเมินค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยตามแนวทางการประเมินค่าเสียหายในพื้นที่ป่าที่มิใช่ป่าต้นน้ำลำธารของกรมป่าไม้ ไร่ละ 68,244.22 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและในเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง พ.ศ.2518 การออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และออกพระราชกฤษฎีกาให้ที่ดินพิพาทเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2524 ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ชอบและถือว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523 และพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ซึ่งกฎกระทรวงและแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาและแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ตามลำดับ แม้จะมีพื้นที่บางส่วน เช่นที่ดินพิพาท ปรากฏว่าอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามก็ไม่มีผลทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่มีสภาพบังคับเพราะเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน อำนาจในการดูแลจัดการหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างกัน และตราบใดที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ยังมิได้นำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทก็ยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดปราจีนบุรี ที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จะนำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยสามารถอยู่ในที่ดินพิพาทได้เพราะอยู่ในบริเวณผ่อนผันให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้ ได้กำหนดให้มีการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อพิสูจน์ว่าราษฎรอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ให้กรมป่าไม้จัดทำขอบเขตที่อยู่อาศัยและทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด…ฯลฯ ส่วนกรณีราษฎรอยู่อาศัยและทำกินหลังวันประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ตามสำเนากฎกระทรวงฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ดังนั้นราษฎรที่จะได้รับประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 แต่ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากนายวิเชียร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยเมื่อปลายปี 2540 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลัง แล้วเสร็จในปี 2545 จึงเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการประกาศกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลานมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าเสื่อมโทรม จำเลยมิได้ทำความเสียหายแก่ป่าไม้ หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน์หรือสิ่งแวดล้อมของป่าบริเวณที่ดินพิพาท จึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และปลูกสร้างบ้านพักในที่ดินพิพาท ปรับสภาพภูมิทัศน์ ด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและปลูกหญ้าเป็นลานกว้าง ย่อมทำให้เสื่อมสภาพแก่ดินหิน กรวด ทราย และสิ่งแวดล้อม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น เพราะยากแก่การแก้ไขฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิด และค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์มานั้น เหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share