แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีที่จำเลยยื่นคำให้การแล้ว เมื่อโจทก์ขอถอนฟ้อง ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง (1) กำหนดให้ศาลฟังว่าจำเลยจะยินยอมให้โจทก์ถอนฟ้องหรือจะคัดค้านประการใด เพื่อประโยชน์ที่ศาลจะได้นำมาประกอบการพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรดังที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้นั้นต่อไป หากศาลยังมิได้ฟังจำเลยก่อนย่อมต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ดังนั้นการที่โจทก์ขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ภายหลังจำเลยให้การต่อสู้คดีและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าจำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องในวันที่ 22 ธันวาคม 2547 โดยไม่มีโอกาสได้คัดค้านหรือไม่คัดค้านในการที่โจทก์ถอนฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปก่อนที่จะได้ฟังจำเลยเช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 222 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16 ของเดือน และทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยระบุว่าโจทก์ขอลาออกโดยไม่เป็นความจริง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 39,960 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 39,960 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์สมัครใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ระบุว่า ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ (1) ห้ามมิให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน ย่อมหมายความให้ศาลฟังว่าจำเลยจะยินยอมให้โจทก์ถอนฟ้องหรือจะคัดค้านประการใด เพื่อประโยชน์ที่ศาลจะได้นำมาประกอบการพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรดังที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้นั้นต่อไป หากศาลยังมิได้ฟังจำเลยก่อน ย่อมต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้ศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ดังนั้น การที่โจทก์ขอถอนฟ้องเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 ภายหลังจำเลยให้การต่อสู้คดีและศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความในวันเดียวกันนั้น โดยปรากฏว่าจำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องในวันที่ 22 ธันวาคม 2547 โดยไม่มีโอกาสได้คัดค้านหรือไม่คัดค้านในการที่โจทก์ถอนฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปก่อนที่จะได้ฟังจำเลยเช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความ ให้ศาลแรงงานกลางสอบถามจำเลยว่าจะคัดค้านการถอนฟ้องหรือไม่ แล้วมีคำสั่งร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ใหม่ตามรูปคดี