คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ในชั้นแรกสิบตำรวจตรี พ. ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 102 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับจริงตามฟ้องหรือไม่ สิบตำรวจตรีไพฑูรย์ วุธพันธ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า พยานเป็นผู้จัดหาสายลับมาและสายลับรู้จักกับจำเลยเป็นอย่างดี เมื่อสายลับผู้ล่อซื้อเป็นบุคคลที่จำเลยรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องปกปิดตัวสายลับเพื่อความปลอดภัยของสายลับดังที่โจทก์พยายามกล่าวอ้างในฎีกาจึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยไม่ยอมลงชื่อในบันทึกการตรวจค้นและจับกุม และในชั้นสอบสวนจำเลยก็ยังยืนกรานให้การปฏิเสธทั้งไม่ยอมลงชื่อในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุด้วย คดียิ่งมีเหตุผลและความจำเป็นยิ่งขึ้นที่พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมหลักฐานให้ชัดแจ้งเพื่อยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยตามข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อ แต่โจทก์ก็หาได้นำสายลับผู้ร่วมปฏิบัติการตามแผนการล่อซื้อมาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันความผิดข่องจำเลยไม่ ทั้งๆ ที่โดยสภาพและพฤติการณ์แห่งความจำเป็นในคดีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ตัวสายลับมมาเบิกความสนับสนุนเพื่อยืนยันความผิดของจำเลยดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น สำหรับพยานหลักฐานที่สำคัญของโจทก์ที่ได้นำสืบต่อศาลคือการตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับ ที่ซุกซ่อนอยู่ในข้องปลา ซึ่งตรวจสอบหมายเลขธนบัตรแล้วปรากฏว่ามีหมายเลข 9 A 7221060 ตรงกับหมายเลขธนบัตรฉบับหนึ่งในจำนวน 8 ฉบับ ที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดปฏิบัติการล่อซื้อได้ถ่ายสำเนาและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนมอบให้สายลับไปใช้ล่อซื้อ และสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีนั้น ร้อยตำรวจเอก ก้องพิทยา อภิรมย์ชวาล พนักงานสอบสวนเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ข้องปลาดังกล่าวแขวนอยู่ข้างบ้านทางด้านทิศตะวันออกตรงที่ศาลชั้นต้นทำเครื่องหมายกาไว้ด้วยปากกาสีน้ำเงินในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูอยู่ตามจุดที่กาไว้ด้วยดอกจันสีแดง จุดที่ข้องปลาแขวนอยู่กับจุดที่ซุ่มดูอยู่นั้นอยู่ในทิศทางเดียวกัน และจากจุดที่ซุ่มดูอยู่จะสามารถมองเห็นจุดที่ข้องปลาแขวนอยู่ได้ชัดเจน ซึ่งข้อความนี้เมื่อศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์ดูจุดและตำแหน่งต่างๆ ที่ศาลชั้นต้นได้ทำเครื่องหมายเพิ่มเติมไว้ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกก้องพิทยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปรากฏว่าจุดที่ข้องปลาแขวนอยู่นั้นอยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจซุ่มดูอยู่มากกว่าจุดที่จำเลยกับสายลับซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกันเสียอีก ดังนั้น หากสิบตำรวจตรีไพฑูรย์และสิบตำรวจตรีสุพรรณรัตน์ บัวเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ซุ่มดูการล่อซื้อสังเกตเห็นการล่อซื้อได้ชัดเจนดังที่ประจักษ์พยานทั้งสองได้เบิกความต่อศาลจริง ประจักษ์พยานทั้งสองก็น่าจะสังเกตเห็นการนำธนบัตรที่ได้จากการล่อซื้อไปซุกซ่อนเก็บไว้ในข้องปลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพราะตามคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองก็ได้ความตรงกันว่าเมื่อสังเกตเห็นสายลับยกมือขึ้นเกาศีรษะส่งสัญญาณว่าล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ตรงเข้าจับกุมจำเลยทันที แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้ค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาคือสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ พละพันธ์ ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ได้รับมอบหมายให้แอบซุ่มดูการล่อซื้อ หากแต่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจชุดที่ซุ่มอยู่กับร้อยตำรวจตรีนะมนต์ พลเทียร ซึ่งซุ่มรออยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 100 เมตร อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าสิบตำรวจตรีไพฑูรย์และสิบตำรวจตรีสุพรรณรัตน์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ซุ่มดูการล่อซื้อนั้นมิได้สังเกตเห็นการนำธนบัตรของกลางไปใส่ซุกซ่อนไว้ในข้องปลาเลย จึงเป็นการขัดต่อเหตุผล ทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองมีข้อพิรุธน่าสงสัยว่า แท้จริงแล้วได้มีการแอบซุ่มดูการล่อซื้อจริงดังที่พยานทั้งสองได้เบิกความต่อศาลหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ผู้ค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาก็เบิกความว่า ก่อนทำการตรวจค้นได้แสดงความบริสุทธิ์และให้ชาวบ้านไปตามสามีจำเลยและกำนันมาเป็นพยานกับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานและกำนันเป็นผู้ตรวจค้นพบเงินของกลางในข้องปลา แต่กลับเบิกความในรายละเอียดต่อไปว่า พยานเห็นเงินของกลางก่อนคนอื่นแล้วเรียกให้กำนันมาดูซึ่งตอนนั้นจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้าน จุดที่พบของกลางอยู่ที่ข้างบ้านพยานเป็นผู้นำธนบัตรไปให้ร้อยตำรวจตรีนะมนต์ซึ่งอยู่หน้าบ้านตรวจดู อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางนั้นสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน” ตามคำเบิกความของสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์นั้น การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทางทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ในชั้นแรกสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วพยานจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟังเชื่อถือได้อย่างสนิทใจและเมื่อได้ประมวลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วเห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยและพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ

Share