แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 แบ่งอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเงินค่าทดแทนออกเป็น3 ระดับ คือ คณะกรรมการกำหนดราคาในเบื้องต้นและคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ระดับหนึ่ง กับรัฐมนตรีและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ระดับหนึ่ง และศาลยุติธรรมอีกระดับหนึ่งซึ่งการกำหนดเงินค่าทดแทนแต่ละระดับ คณะกรรมการระดับถัดขึ้นมาหรือศาลมีอำนาจตรวจสอบและสั่งแก้ไขได้แม้คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แต่งตั้งจะได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 318,500 บาทแต่ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้น 1,190,000 บาทซึ่งจำเลยทั้งสองก็ได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลเป็นการตรวจสอบและยกเลิกคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจำนวน318,500 บาทอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 68689 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน เพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนไปทั้งแปลงเป็นเนื้อที่ 70 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาตารางวาละ 7,000 บาท เป็นเงิน 490,000 บาท โจทก์เห็นว่าเป็นจำนวนที่ไม่เป็นธรรมจึงได้อุทธรณ์และฟ้องคดีต่อศาล ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ประกาศใช้บังคับ ซึ่งประกาศดังกล่าวให้อำนาจรัฐมนตรีโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการแก้ไขจำนวนเงินค่าทดแทนที่ยังค้างดำเนินการอยู่เสียใหม่ให้ได้รับความเป็นธรรม ต่อมาคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขราคาค่าทดแทนได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่ผู้ถูกเวนคืนที่ยังค้างดำเนินการอยู่ ที่ดินโจทก์ก็ได้รับการแก้ไขจำนวนเงินค่าทดแทนด้วย โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจำนวน 318,500 บาทต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิ่มเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,190,000 บาท จำเลยจะต้องนำเงินดังกล่าวไปหักจากค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม โจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน318,500 บาท ให้แก่โจทก์เนื่องจากตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ไม่ตัดสิทธิโจทก์มิให้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเนื่องจากการที่โจทก์ได้รับเงินเพิ่มตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด อีกทั้งขณะศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งหรือสงวนสิทธิไว้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวอีก จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน 318,500 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 23,887.50บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 342,387.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 342,387.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 318,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวน318,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่คณะกรรมการที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งขึ้นเพื่อกำหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เพื่อความเป็นธรรม โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จโดยศาลได้วินิจฉัยว่าเหตุที่ต้องกำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์เพราะมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ใช้บังคับในระหว่างคดียังไม่เสร็จเด็ดขาด จำเลยทั้งสองก็ได้ชำระค่าทดแทนเพิ่มตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์รับไปแล้ว ดังนั้นเงินค่าทดแทนทั้งสองจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินเพิ่มค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเพียงจำนวนเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 68689ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 70 ตารางวาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวันเขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับเพื่อสร้างทางพิเศษระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และพญาไท-ศรีนครินทร์จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 7,000 บาทเป็นเงิน 490,000 บาท โจทก์ไม่พอใจได้ยื่นอุทธรณ์และฟ้องเป็นคดีต่อศาลในเวลาต่อมา ระหว่างพิจารณาของศาลได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ประกาศใช้บังคับ คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มเป็นเงิน 318,500 บาท แต่จำเลยทั้งสองยังมิได้จ่ายให้แก่โจทก์ ต่อมาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,190,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงไม่จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนกำหนดจำนวน 318,500 บาทให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 318,500บาท ที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนกำหนดให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งบังคับใช้แก่กรณีพิพาทนี้ แบ่งอำนาจหน้าที่ในการกำหนดค่าทดแทนออก 3 ระดับ คือ คณะกรรมการกำหนดราคาในเบื้องต้นและคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มีอำนาจหน้าที่กำหนดเงินค่าทดแทนในเบื้องต้นระดับหนึ่ง กับรัฐมนตรีรักษาการและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ระดับหนึ่งและศาลยุติธรรมอีกระดับหนึ่งซึ่งการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนแต่ละระดับขั้นตอนดังกล่าวหากมีข้อบกพร่องในการกำหนดเงินค่าทดแทนจากการกระทำของคณะกรรมการในระดับแรก คณะกรรมการระดับถัดขึ้นมาหรือศาลก็จะมีโอกาสตรวจสอบและสั่งแก้ไขได้ตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้ ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งแปลง 70 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 490,000 บาท โจทก์ไม่พอใจได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) และฟ้องคดีต่อศาลในเวลาต่อมา ระหว่างพิจารณาคดีของศาลได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ประกาศใช้บังคับ แม้คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 ทวิ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 318,500 บาท แต่จำเลยทั้งสองยังมิได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ เมื่อมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ ปค.58/2538 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุด ให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้น 1,190,000 บาท โดยในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ศาลได้หยิบยกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มาวินิจฉัยแล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวมีผลเป็นการตรวจสอบและยกเลิกคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจำนวน 318,500 บาท ตามที่คณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนกำหนดให้โจทก์อีก คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน