แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ผ. จะได้ครอบครองที่ดินก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติประกาศใช้แต่ผ. มิได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน90วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับจึงถือว่าผ. สละสิทธิหรือประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้วผ. จึงไม่มีสิทธิโอนที่ดินส่วนนี้ให้จำเลยการที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงมีความผิด โจทก์นำสืบไม่ได้ความชัดว่าไม้พลวงไม้เขว้าและไม้มะค่าแต้ขึ้นอยู่ในหรือนอกเขตที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ในที่ดินที่จำเลยแจ้งการครอบครองจึงมิใช่ไม้หวงห้ามแม้จำเลยตัดฟันแปรรูปและมีไว้ในครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้จำเลยก็ไม่มีความผิด ไม้ยางนั้นไม่ว่าจะขึ้นอยู่ณที่ใดในราชอาณาจักรก็เป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้นแต่โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยตัดฟันไม้ยางจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2531 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2533 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยปอ จำนวน 181 ไร่ และจำเลยเข้าไปทำไม้โดยตัดฟันไม้หวงห้ามประเภท ก. มีไม้ยาง 8 ต้น ไม้พลวง 8 ต้น ไม้เขว้า 2 ต้นและไม้มะค่าแต้ 1 ต้น เป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ภายหลังจากกระทำผิดข้างต้น จำเลยแปรรูปไม้เขว้าภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยมีไม้แปรรูปตามจำนวนและปริมาตรดังกล่าวไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยมีไม้มะค่าแต้ซึ่งยังมิได้แปรรูป 1 ท่อน ปริมาตร 2.12 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เจ้าพนักงานยึดไม้เขว้าแปรรูป 3 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.40 ลูกบาศก์เมตรไม้มะค่าแต้ 1 ท่อน ปริมาตร 2.12 ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6,9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11,48, 69, 73, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคแรกพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 48, 73 ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคแรกจำคุก 2 ปี ฐานทำไม้ยางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 73 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้หวงห้ามในเขตควบคุมและฐานมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 71 วรรคแรก(ที่ถูกมาตรา 73 วรรคแรก) จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 5 ปีริบของกลาง ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคแรก และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,48, 73 เสียด้วยไม่ริบของกลางไม่จ่ายสินบนนำจับ และไม่สั่งให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาตินอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า สำหรับที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 เนื้อที่ 32 ไร่ ที่จำเลยรับโอนการครอบครองมาจากนายผิว บุญทด และที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.3 เนื้อที่ 26 ไร่ 1 งานที่นายผิวรับโอนการครอบครองมาจากนายชู หนองเป็ด แล้วนายผิวได้โอนการครอบครองแก่จำเลยนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นที่ดินซึ่งนายผิวมีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับที่ 1116 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2528กำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ สิทธิครอบครองของนายผิวจึงไม่ถูกกระทบกระเทือน ตามที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคสาม บัญญัติยกเว้นไว้ จำเลยรับโอนการครอบครองที่ดินดังกล่าวจากนายผิว มาโดยชอบ จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์คดีในส่วนนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะที่จำเลยครอบครองที่ดินนอกเขตหนังสือแจ้งการครอบครองเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เป็นจำนวนเนื้อที่อีก122 ไร่ 3 งาน ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 หรือ จ.13นั้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งหรือไม่เห็นว่า จำเลยมีเอกสารหมาย ล.1แบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี 2524 ถึงปี2528 ซึ่งนายผิวยื่นขอเสียภาษีบำรุงท้องที่ไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2524 ระบุที่ดินแปลงที่ 1 ไว้เป็นเนื้อที่ 141 ไร่ อาณาเขตที่ดินด้านทิศเหนือ ยาว 14 เส้นติดกุดกะเหลิบ ทิศตะวันออกยาว 12 เส้น ติดทางรถ (ซึ่งเดิมเป็นทางเกวียน) ทิศใต้ยาว 10 เส้น ติดวัด (บ้านโนนดู่) ทิศตะวันตกยาว11 เส้น 10 วา ติดที่ดินนายอินทร์ ซึ่งครอบคลุมที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 มาแสดงต่อศาลและนายผิว พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ที่ดินที่ตนครอบครองนั้นตนได้ล้อมรั้วไว้ นายจำรัส บุญทศ นายเวียง บุญทศ นายบน บุญทศนายภา พันธุ์ดวง นายบุญเพ็ง อภัยวงศ์ และนายเจริญ แสวงผลพยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันว่า นายผิวได้ล้อมรั้วที่ดินที่นายผิวครอบครองนั้นมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อจำเลยเข้าครอบครองจึงได้เปลี่ยนเป็นรั้วลวดหนาม ดังนี้ย่อมฟังได้ว่า ระหว่างปี 2498ถึงปี 2524 นายผิวได้ครอบครองที่ดินนอกเขตหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เพิ่มขึ้นอีก 122 ไร่ 3 งาน ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับที่ 1116 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2528จะกำหนดให้ที่ดินดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ไม่ปรากฏว่านายผิวได้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่กระทรวง ฉบับที่ 1116 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2528ใช้บังคับ จึงถือว่านายผิวสละสิทธิหรือประโยชน์ในที่ดินที่ตนครอบครองในส่วนนี้แล้วตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 12 วรรคหนึ่ง นายผิวจึงหามีสิทธิใด ๆ ที่จะโอนการครอบครองที่ดินในส่วนนี้แก่จำเลยได้ไม่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 1116 (พ.ศ. 2528)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่7 สิงหาคม 2528 กำหนดให้ที่ดินภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์กั้นรั้วด้วยลวดหนามแสดงอาณาเขตการยึดถือครอบครองที่ดินตามแผนที่หมาย จ.5 แผ่นที่ 3 รวมเนื้อที่ 181 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2531 จึงต้องถือว่าจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ที่ดินที่จำเลยเข้าครอบครองนั้นอยู่ภายในแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ 1116 (พ.ศ. 2528)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ลงวันที่7 สิงหาคม 2528 อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้นการที่จำเลยฝ่าฝืนเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อสร้างรั้วด้วยลวดหนามแสดงอาณาเขตการยึดถือครอบครองที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 หรือจ.13 ในส่วนที่อยู่นอกเขตที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องกรณีหาใช่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินนอกเขตตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินในเขตตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และล.3 ไม่ เพราะที่ดินตามแผนที่เอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 หรือ จ.13มีเนื้อที่ถึง 181 ไร่ ส่วนที่ดินตามแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.1 มีเนื้อที่ 141 ไร่ แต่ที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 มีเนื้อที่รวม 58 ไร่ 1 งาน จำนวนเนื้อที่ดินแตกต่างกันประมาณสองเท่าตัวความกว้างยาวรูปที่ดินก็แตกต่างกัน จำเลยเบิกความรับว่าได้ตรวจสอบหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 ตลอดจนแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.1 ด้วยในขณะซื้อมา นายสมาน สิมมา นายไพบูลย์ สายโสภานายคุณานุวัฒน์ จันทร์น้อย พยานจำเลยเบิกความว่าจำเลยได้บอกแก่พยานทั้งสามปากว่า ซื้อที่ดินมาประมาณ 100 ไร่ ดังนี้ย่อมเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินตามแผนที่หมาย จ.5 แผ่นที่ 3หรือ จ.13 โดยทราบอยู่ว่าได้ครอบครองที่ดินนอกเขตหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ด้วย จึงมีความผิดดังที่วินิจฉัยในตอนต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคแรกนั้นไม่ถูกต้องเพราะการกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 31 วรรคสอง ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปว่า จำเลยทำไม้ยาง ไม้พลวง ไม้เขว้า ไม้มะค่าแต้ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.หรือไม่ สำหรับไม้พลวง ไม้เขว้า และไม้มะค่าแต้ นั้น เนื่องจากโจทก์นำสืบไม่ได้ความชัดว่า ไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ในหรือนอกเขตที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าไม้ดังกล่าวขึ้นอยู่ในที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 จึงมิใช่ไม้ในป่า เพราะป่าหมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ไม้พลวง ไม้เขว้าและไม้มะค่าแต้ ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยตัดฟันทำไม้นั้นจึงมิใช่ไม้หวงห้ามเพราะไม้ชนิดอื่นนอกจากไม้สักและไม้ยางแล้ว จะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ได้โดยพระราชกฤษฎีกาจะต้องเป็นไม้ในป่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ไม้ดังกล่าวมิใช่ไม้หวงห้ามประเภท ก. แล้ว แม้จำเลยจะตัดฟันไม้ดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีความผิดส่วนไม้ยางนั้นไม่ว่าจะขึ้นอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ทั้งสิ้น จึงมีปัญหาว่า จำเลยได้ตัดฟันไม้ยางจำนวน 8 ต้น ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยตัดฟันไม้ยาง หรือร่วมกับผู้อื่นตัดไม้ยางจำนวน8 ต้น ดังกล่าวจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อที่สามมีว่า จำเลยแปรรูปไม้เขว้าและมีไม้เขว้า แปรรูปไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้หรือไม่เห็นว่า โจทก์นำสืบพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม้เขว้าดังกล่าวเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่ามิใช่ในที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ที่นายผิว นายชูได้มาตามกฎหมายที่ดินและโอนการครอบครองแก่จำเลยโดยชอบดังได้วินิจฉัยไว้แล้วในปัญหาข้อ 2 ตอนต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า ไม้เขว้า ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยแปรรูปไม้เขว้าและมีไม้เขว้า จำนวนเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ จำเลยก็ไม่มีความผิดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง จำคุกจำเลย 2 ปี และปรับ 50,000 บาท จำเลยประกอบอาชีพขายน้ำมันเป็นหลักฐานมั่นคงมีความประพฤติดี บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมตามกิจกรรมในภาพถ่ายซึ่งแนบท้ายคำแถลงการณ์ชั้นอุทธรณ์หลังเกิดเหตุจำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดยโสธร ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสที่จำเลยจะกลับตัวเป็นพลเมืองดีจึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในการกักขังจำเลยแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี ได้ ให้จำเลยคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม้ของกลางไม่ริบ คำขอให้จ่ายสินบนนำจับให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1″