คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1) สัญญาใดที่ทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์จะระงับข้อพิพาทโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน คือ โจทก์ยอมถอนฟ้องคดีซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล กับทั้งจะไม่เรียกร้องเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยต่อไป และฝ่ายจำเลยก็ยอมให้เงินแก่โจทก์จำนวนหนึ่งเป็นการตอบแทน สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
(2) คดีที่ฟ้องร้องอยู่ศาลแล้ว ไม่จำเป็นที่คู่กรณีจะต้องทำสัญญาดังกล่าวในข้อ (1) นั้น แต่เฉพาะในศาลเท่านั้น อาจจะทำกันนอกศาลก็ได้ ขอแต่ให้ถูกต้องตามแบบในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850
(3) สัญญาประนีประนอมยอมความตามที่กล่าวในข้อ (1) (2) นั้น แม้จะเกี่ยวด้วยทรัพย์ราคามากกว่า 200 บาท ซึ่งเกินจำนวนราคาที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 108 ก็ตาม แต่อำเภอย่อมมีอำนาจทำให้ได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มาตรา 87 ถ้าเป็นเรื่องที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้อำเเภอทำ ส่วนตามมาตรา 108 นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจกรมการอำเภอหมายเรียกคู่กรณีมาเปรียบเทียบ
(4) ผลของสัญญาดังกล่าวในข้อ (1) ถึง (3) ย่อมทำให้การเรียกร้องที่โจทก์ได้ยอมสละไว้สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 และสิทธิดำเนินคดีต่อไปย่อมระงับหมดสิ้นลง แม้จำเลยไม่ฟ้องแย้งให้ถอนฟ้อง ศาลก็พิพากษายกฟ้องได้.
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ไม่อาจอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ขอแบ่งทรัพย์ครึ่งหนึ่ง ๓๐๐,๐๐๐ บาท ฯลฯ
จำเลยให้การปฎิเสธหลายประการ
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาหลายข้อ แต่มีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่าเอกสาร ล.๑ มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อนึ่ง คดีที่อยู่ในศาลแล้ว คณะกรมการอำเภอย่อมหมดอำนาจที่จะทำการเปรียบเทียบ และตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มาตรา ๑๐๘ คณะกรมการอำเภอเปรียบเทียบคดีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๒๐๐ บาท ทั้งต้องเป็ฯคดีที่เกิดในเขตอำเภอเมืองสมุทรสงครามด้วย
ศาลฎีกาได้ปรึกษาฎีกาของโจทก์ข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๕๐ บัญญัติว่า “อันสัญญาประนีประนอมนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน” และเอกสาร ล.๑ นี้ก็เป็นสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์จะระงับข้อพิพาทด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน คือ โจทก์ยอมถอนฟ้องคดีนี้และคดีแพ่งดำที่ ๖๖๐/๒๔๙๙ กับทั้งจะไม่เรียกร้องเกี่ยวข้อด้วยทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยต่อไป โดยฝ่ายจำเลยยอมให้เงินสามหมื่นบาทแก่โจทก์เป็นการตอบแทน เอกสาร ล.๑ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามความหมายของมาตรา ๘๕๐ ทุกประการ อนึ่ง คดีที่ฟ้องร้องอยู่ในศาลแล้วไม่จำเป็นที่คู่กรณีจะต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่เฉพาะในศาลเท่านั้น อาจจะทำกันนอกศาลก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมารตรา ๘๕๑ เรื่องนี้โจทก์จำเลยตกลงกันให้อำเภอเมืองสมุทรสงครามทำสัญญาประนีประนอมให้ ทางอำเภอย่อมมีอำนาจทำให้ได้ตามมาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ส่วนมาตรา ๑๐๘ ที่โจทก์อ้างมานั้น
เป็นเรื่องคดีชนิดใดที่กฎหมายให้อำนาจคณะกรมการอำเภอหมายเรียกคู่กรณีมาเปรียบเทียบได้
ในประการสุดท้าย โจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยจะกล่าวอ้างเอกสาร ล. ๑ ในคำให้การก็ดี แต่จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ให้ถอนฟ้อง ศาลไม่มีสิทธิจะยกเอกสาร ล.๑ ขึ้นยกฟ้องโจทก์ได้
เห็นว่าผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์ได้ยอมสละเสียแล้วนั้นระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ สิทธิของโจทก์ที่จะดำเนินคดีนี้ต่อไปก็ย่อมระงับหมด-สิ้นลง จำเลยไม่จำต้องฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้องของโจทก์ได้ทีเดียว
ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน.

Share