คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรม แม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น
ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (Starburst) ของโจทก์ทั้งสอง แม้นาย ม. จะเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตนเอง โดยอ้างว่าสร้างสรรค์จากมโนภาพการระเบิดของดาวหางพุ่งชนกับวัตถุที่โคจรอยู่ในระบบบจักรวาลแต่พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบ จะเห็นได้ว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดต่างก็ใช้รูปประกายดาวเป็นภาพประกอบเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติในการทำความสะอาดของสินค้านั่นเอง แนวคิดหรือมโนภาพที่นาย ม. กล่าวอ้างจึงเป็นแนวคิดที่ใช้กันอยู่สำหรับสินค้าประเภทนี้นอกจากนี้ภาพกราฟฟิครูปประกายดาวของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบมา แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์แม้จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทางเรขาคณิตทั่วไปและภาพวาดรูปมือมีลักษณะของการจัดวางมือสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทางที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอดเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นด้วยตนเองงานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์แล้ว แม้ต่อมามีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนข้อความที่ว่า สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้าผลซักฟอก ทั้งลักษณะที่ใช้ก็มุ่งเน้นสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 4 บัญญัติเกี่ยวกับงานศิลปประยุกต์ไว้ โดยวัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์ คือการนำงานศิลปกรรมลักษณะต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อรับฟังได้ว่า ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม และเมื่อภาพดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สินค้าของโจทก์ทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพและราคาสูง ส่วนของจำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพและราคาต่ำกว่า กลุ่มผู้บริโภคจึงแตกต่างกัน และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะและเสียงเรียกขานอย่างชัดเจนแล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะเป็นการลวงขายสินค้าจึงเป็นไปได้น้อย คดีจึงไม่อาจรับฟังว่า จำเลยทั้งสองเจตนาเอารูป รอยประดิษฐ์ลวดลายและข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ที่ 2 มาใช้ หรือทำให้ปรากฏในสินค้าบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองเพื่อเป็นการลวงขายสินค้าว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 455,000,000 บาท ห้ามจำเลยทั้งสองใช้บรรจุภัณฑ์พิพาท หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมือนคล้ายใกล้เคียงกันอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองวันละ 1,000,000 บาท นับถัดจากฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกการจำหน่ายและเก็บผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองออกจากท้องตลาดจนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ ภาพวาดและคำบรรยายที่ใช้ในทางการค้าตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมนั้นแม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) นี้แม้นายไมเคิล จะเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตนเอง โดยอ้างว่าได้มาจากมโนภาพการระเบิดของดาวหางเมื่อพุ่งชนกับวัตถุที่โคจรอยู่ในระบบจักรวาล ทำให้บริเวณที่เกิดชนกันนั้นสว่างและกลายเป็นแสงเจิดจ้าเหมือนสีขาว เช่นเดียวกับผงซักฟอกเมื่อสัมผัสกับเสื้อผ้าในน้ำแล้วผงซักฟอกจะแตกกระจายครอบคลุมเนื้อผ้าและทำปฏิกิริยาขจัดคราบสกปรกที่ฝังในเนื้อผ้าให้หลุดออกไป ทำให้เสื้อผ้าขาวสะอาดหมดจด แต่พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบนั้นจะเห็นได้ว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาด ต่างก็ใช้รูปประกายดาวเป็นภาพประกอบเช่นกันซึ่งน่าจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติในการทำความสะอาดของสินค้านั่นเอง แนวคิดหรือมโนภาพที่นายไมเคิล กล่าวอ้างจึงเป็นแนวคิดที่ใช้กันอยู่สำหรับสินค้าประเภทนี้ และก็แสดงให้เห็นว่า รูปประกายดาวนี้มีปรากฏทั่วไปเป็นจำนวนมากหลากหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับเจ้าของสินค้าว่าจะนำรูปประกายดาวในลักษณะใดไปใช้กับสินค้าเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเพียงการเลือกแบบของรูปประกายดาวเพื่อนำมาใช้ประกอบกับแนวคิดดังกล่าวแล้ว ย่อมจะไม่ทำให้เกิดเป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นมา นอกจากนี้ ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบมา แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนของภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์นั้น โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์และนางอนัญญา มาเบิกความยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 ได้ว่าจ้างให้บริษัทแดซลิ่ง กราฟฟิค จำกัด เป็นผู้ออกแบบ โดยมีนางอนัญญาเป็นผู้ดำเนินการ มีการปรับเปลี่ยนร่างหลายครั้งใช้เวลากว่า 5 เดือน ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางอนัญญาได้สร้างงานดังกล่าวขึ้นด้วยตนเอง ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์มีลักษณะเป็นโมเลกุลและแสดงออกถึงพลังและอานุภาพของเม็ดผงซักฟอกสีฟ้า แม้ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง งานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แล้ว แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับภาพวาดและคำบรรยาย “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” ตามเอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 2 นั้น โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์และนางอนัญญาเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.17 ยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของงานดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้สืบพยานในประเด็นนี้เช่นกัน คดีจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางอนัญญาเป็นผู้สร้างงานดังกล่าว โดยภาพวาดรูปมือมีลักษณะของการจัดวางมือทั้งสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิมแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง งานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตามข้อความที่ว่า “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้นางอนัญญานำมาใช้ประกอบกับภาพวาดรูปมือและประสงค์จะใช้เป็นงานชิ้นเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่า ในการสร้างงานขึ้นมานี้ภาพวาดกับคำบรรยายดังกล่าวสามารถแยกส่วนออกจากกันได้อย่างชัดเจน ในส่วนของคำบรรยายจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมทั้งภาพ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อมามีว่างานออกแบบซองบรรจุภัณฑ์เป็นงานศิลปประยุกต์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า งานดังกล่าวเป็นการนำงานจิตรกรรมมารวบรวมจัดวางขึ้นใหม่แล้วจัดทำเป็นบรรจุภัณฑ์ และใช้ประโยชน์ได้จริงจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า “งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า” วัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์ จึงหมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว สำหรับคดีนี้เมื่อรับฟังว่า ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมและภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพและข้อความอื่น ๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าการออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อมามีว่า จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 จะไม่ปรากฏภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์แต่อย่างใด แม้ในส่วนมุมบนด้านซ้ายของบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจะปรากฏรูปทรงกลมหลายวง แต่ก็เป็นรูปทรงเรขาคณิตที่บุคคลทั่วไปอาจใช้ได้เป็นปกติอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ใช้รูปทรงกลมสีฟ้าโดยไม่คล้ายกับภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์เพื่อสื่อถึงพลังเม็ดสีฟ้าในผงซักฟอกย่อมจะกระทำได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจนำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ของโจทก์ทั้งสองเช่นใด จึงไม่อาจรับฟังว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้ สำหรับภาพวาดรูปมือนั้นก็ไม่ปรากฏอยู่บนซองบรรจุภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ส่วนที่ปรากฏที่มุมด้านขวาของบรรจุภัณฑ์จะเป็นเพียงภาพมือ 2 ข้าง วางใกล้กันอยู่ในน้ำ และมีคำบรรยาย “สำหรับซักมือ” อยู่ด้านล่าง ซึ่งภาพของมือ 2 ข้าง นั้นเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อมามีว่า จำเลยทั้งสองเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 หรือไม่และจำเลยทั้งสองได้เอารูปรอยประดิษฐ์ ลวดลาย และข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ที่ 2 มาใช้ หรือทำให้ปรากฏในสินค้าบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยทั้งสองเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับบรรจุภัณฑ์ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง มีโครงสร้างหรือรูปแบบเหมือนคล้ายกัน เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เป็นอักษรโรมันคำว่า “BREEZE POWER” ซึ่งไม่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ไม่ถือว่าเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นอักษรไทยคำว่า “บรีสเพาเวอร์” ซึ่งไม่ปรากฏคำดังกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองเช่นกัน จึงไม่ถือว่าเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์ของโจทก์ทั้งสองเปรียบเทียบกับบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือ ซองบรรจุภัณฑ์สีแดงกลางซองบรรจุภัณฑ์ด้านหน้าเป็นชื่อสินค้าสีน้ำเงินซ้อนอยู่บนรูปประกายดาวสีขาว ลักษณะตัวอักษร (Font) และการวางตัวอักษรเอียงขวาเหมือนกันมีแถบสีเหลืองเหมือนกัน มุมบนด้านซ้ายมีคำว่า “ใหม่” กับรูปทรงกลมสีน้ำเงิน มุมล่างด้านซ้ายระบุปริมาณของสินค้า ส่วนมุมล่างด้านขวามีคำบรรยาย “สำหรับซักมือ” กับรูปมือ 2 ข้าง อยู่ในวงกลม หากพิจารณาแยกเป็นแต่ละส่วนเช่นนี้ก็จะเห็นความคล้ายกัน แต่ความคล้ายกันดังกล่าวเป็นส่วนที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีนายศิรพงษ์มาเบิกความว่า สีที่ใช้ดังกล่าวเป็นสีที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การจัดวางตำแหน่งของข้อความต่าง ๆ ก็เป็นไปอย่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์โดยรวมแล้วยังถือว่ามีความแตกต่างกันอยู่ นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองมีนายเอกรินทร์ มาเบิกความด้วยว่า สินค้าของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองอยู่คนละกลุ่มโดยสินค้าของโจทก์ทั้งสองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพสูงและราคาสูง ส่วนของจำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มคุณภาพและราคาต่ำกว่า กลุ่มผู้บริโภคจึงแตกต่างกัน การจัดวางจำหน่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าก็ไม่ได้ใกล้กัน โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบหรือถามค้านโต้แย้งในประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 กับของจำเลยที่ 1 แตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะและเสียงเรียกขานอย่างชัดเจนแล้ว โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันจะเป็นการลวงขายสินค้าจึงเป็นไปได้น้อย คดีจึงไม่อาจรับฟังว่า จำเลยทั้งสองเจตนาเอารูป รอยประดิษฐ์ ลวดลายและข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ที่ 2 มาใช้ หรือทำให้ปรากฏในสินค้าบรรจุภัณฑ์ของจำเลยทั้งสอง เพื่อเป็นการลวงขายสินค้าว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อที่เหลือของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
1/4

Share