คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14420-14423/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 หรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อบริษัท น. และบริษัท ป. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสี่จากบริษัทจำเลยไปทำงานที่บริษัท น. และบริษัท ป. จึงเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ยินยอมไปทำงานที่บริษัท น. และบริษัท ป. จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และให้เรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมเงินเพิ่ม และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วันของค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าประกันภัยรถยนต์พร้อมดอกเบี้ย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสี่ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จและให้จำเลยออกหนังสือรับรองการเป็นพนักงานของโจทก์ทั้งสี่ให้แก่โจทก์ทั้งสี่
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 365,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 702,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 56,000 บาท และโจทก์ที่ 4 จำนวน 311,645.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยโอนย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปสังกัดบริษัทนำยุค จำกัด และบริษัทป้อมทิพย์ จำกัด เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างหรือไม่ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า กลุ่มตลาดไทยเบฟได้เข้าซื้อหุ้นและเข้าบริหารกิจการของจำเลยในนามนิติบุคคลเดิม แต่เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ลูกจ้างของจำเลยแตกต่างจากกลุ่มตลาดไทยเบฟ กล่าวคือ จำเลยให้ค่าคอมมิชชั่นในการขายแก่ลูกจ้างโดยการเหมาจ่าย แต่กลุ่มตลาดไทยเบฟจ่ายค่าคอมมิชชั่นจากการขายตามผลงานจำเลยไม่มีทางแก้ไขอย่างอื่นจึงต้องโอนย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปสังกัดบริษัทนำยุค จำกัด และบริษัทป้อมทิพย์ จำกัด เพื่อให้โจทก์ทั้งสี่เข้าสู่ระบบการจ่ายสิทธิประโยชน์ตามแบบของกลุ่มไทยเบฟเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างไม่ใช่การเปลี่ยนตัวนายจ้าง เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอมและนายจ้างเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการเลิกจ้างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีผลบังคับเพียงนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับกันนั้น เห็นว่า กรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 หรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่ เมื่อบริษัทนำยุค จำกัด และบริษัทป้อมทิพย์ จำกัด เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสั่งโอนย้ายโจทก์ทั้งสี่จากบริษัทจำเลยไปทำงานที่บริษัทนำยุค จำกัด และบริษัทป้อมทิพย์ จำกัด จึงเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจึงต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ยินยอมไปทำงานที่บริษัทนำยุค จำกัด และบริษัทป้อมทิพย์ จำกัด จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่มีความผิด การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share