คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9599/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตัดไม่ให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 กำหนดไว้ 2 กรณี กรณีแรกคือเจ้ามรดกแสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมโดยชัดแจ้งด้วยการระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก กรณีที่สองคือเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดโดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น เมื่อตามพินัยกรรมไม่ระบุว่าตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งและที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า หมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีสิทธิในกองมรดกของ อ. ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของเจ้ามรดกที่ได้รับการยกให้มาจาก พ. จึงเป็นคนละส่วนกัน เมื่อตามพินัยกรรมข้อ 5 คงมีแต่คำสั่งของเจ้ามรดกที่ให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของเจ้ามรดกว่า หากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ทั้งปรากฏว่าได้มีการไถ่ถอนทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1699 และ 1620 วรรคสอง โจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งในจำนวนบุตร 8 คน ของเจ้ามรดก ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 1633

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองดำเนินการรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 28553 ถึง 28556 ตำบลสวนหลวง (บางจาก)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่ดินโฉนดแปลงเดียวกัน แล้วแบ่งแยกออกเป็น 8 ส่วน เท่า ๆ กัน โดยให้ทางทิศใต้ของที่ดินแต่ละแปลงติดกับถนนสาธารณะ (ถนนอ่อนนุชหรือซอยอ่อนนุช) และแบ่งให้แก่โจทก์ จำนวน 1 ส่วนมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 267 ตารางวา หากไม่สามารถดำเนินการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้มีคำสั่งนำที่ดินออกประมูลขายทอดตลาดและแบ่งเงินจากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ 1 ส่วน เป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,015,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง โดยให้โจทก์ดำเนินการแทน และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การตัดมิให้ทายาทโดยธรรมได้รับมรดกสำหรับกรณีที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมไว้นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 กำหนดไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง ( 1) และวรรคสอง เจ้ามรดกต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งไว้ในพินัยกรรมโดยระบุตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกไว้ให้ชัดเจน และกรณีที่สองตามวรรคสามคือจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดในพินัยกรรม โดยไม่มีทายาทโดยธรรมคนที่เจ้ามรดกประสงค์จะตัดมิให้รับมรดกมีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ใด ๆ ในพินัยกรรมนั้น พินัยกรรมไม่ปรากฏการตัดโจทก์มิให้รับมรดกโดยชัดแจ้งตามกรณีแรกจึงคงมีแต่กรณีที่สองที่ว่าเจ้ามรดกได้จำหน่ายทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม เสียทั้งหมดแล้วหรือไม่ เจ้ามรดกระบุจำหน่ายทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามข้อ 1 ถึงข้อ 7 โจทก์โต้แย้งแต่เพียงข้อ 5 ข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาทที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าวเจ้ามรดกยังมิได้ยกให้แก่ผู้ใด จึงต้องตกได้แก่ทายาทโดยธรรม จำเลยทั้งสองนำสืบว่า นอกเหนือจากโจทก์จะไม่มีชื่อเป็นผู้รับมรดกในพินัยกรรม ข้อ 7 ของพินัยกรรมยังได้กำหนดให้อสังหาริมทรัพย์นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 6 ตกได้แก่ทายาทโดยธรรมที่ระบุชื่อไว้จำนวน 6 คน ซึ่งไม่มีชื่อโจทก์อยู่ในทายาทดังกล่าวนั้น จึงเป็นกรณีที่เจ้ามรดกได้จำหน่ายทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหมดแล้วโดยโจทก์มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเลย โจทก์จึงถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608 วรรคสาม เห็นว่า ตามข้อ 7 ของพินัยกรรมที่ยกทรัพย์มรดกนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึงข้อ 6 ให้แก่ทายาท 6 คน ที่ไม่มีชื่อโจทก์นั้น มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าหมายถึงเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่นางฟาติมะมีสิทธิในกองมรดกของนายเอ อี ครึ่งหนึ่งในฐานะภริยาโดยชอบด้วยฎหมายเท่านั้น แต่สำหรับที่ดินพิพาทตามข้อ 5 ของพินัยกรรมนั้น เป็นทรัพย์มรดกที่เป็นสินส่วนตัวของนางฟาติมะที่ได้รับการยกให้จากนายไพโรจน์ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2507 ที่ดินพิพาทจึงมิได้ถูกจำหน่ายโดยพินัยกรรมข้อ 7 จึงเหลือข้อที่ต้องพิจารณาเพียงประการเดียวว่า ที่ดินพิพาทได้มีการจำหน่ายไปโดยพินัยกรรมข้อ 5 แล้วหรือไม่ อันจะมีผลให้โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนางฟาติมะเจ้ามรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสาม หรือไม่ด้วย พิเคราะห์ข้อความในข้อ 5 ทั้งหมดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ใดคงมีแต่คำสั่งให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทนำเงินมาชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมิได้มีคำสั่งของนางฟาติมะเจ้ามรดกว่าหากการชำระหนี้มีเงินเหลือให้ตกได้แก่ผู้ใด หรือหากมีกรณีที่ทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่มีการดำเนินการตามนั้นจะให้ตกได้แก่ผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าได้มีการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของนางฟาติมะเจ้ามรดกโดยไม่มีข้อที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งในข้อ 5 อีก จึงเป็นทรัพย์มรดกที่ปลอดจากภาระใด ๆ ในวันที่ เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่มีการระบุว่าจะให้ตกได้แก่ผู้ใด ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้เงินส่วนตัวไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เพราะโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งยังปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว และหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างและนำสืบ หนี้จำนวนแน่นอนที่จะหักกลบลบหนี้กับที่ดินพิพาทได้ก็ยังไม่ชัดเจน และที่ดินพิพาทยังไม่มีการขาย เมื่อขายแล้วจะได้เงินมากกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้ชำระแทนไปหรือไม่ หากมีจำนวนมากกว่า ส่วนที่เหลือก็ยังต้องตกเป็นของทายาทโดยธรรมทุกคนรวมทั้งโจทก์คนละส่วนเท่า ๆ กัน เพราะพินัยกรรมข้อ 5 มิได้ระบุไว้ว่าให้ตกได้แก่ผู้ใดโดยเฉพาะ อีกทั้งไม่มีการฟ้องแย้งเรียกเงินจำนวนใด ๆ โดยจำเลยทั้งสอง จึงย่อมไม่มีประเด็นที่จะพิพากษาให้จำเลยทั้งสองได้เงินจำนวนใด ๆ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 5 ระบุไว้ว่าให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินมาชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ผู้เป็นเจ้าหนี้ แต่ ณ วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย อันเป็นวันที่พินัยกรรมมีผลใช้บังคับ ไม่มีหนี้จำนองดังกล่าวให้ต้องมีการขายที่ดินพิพาทมาชำระหนี้อีก จึงเป็นกรณีที่ข้อกำหนดในพินัยกรรมเรื่องการชำระหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินรายนี้เป็นอันไร้ผล ทำให้พินัยกรรม จำหน่ายแต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกส่วนที่ยังมิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมย่อมตกทอดและต้องแบ่งปันกันแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 และมาตรา 1620 วรรคสอง ขณะถึงแก่ความตายนางฟาติมะเจ้ามรดกมีบุตร 8 คน โดยโจทก์เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิได้รับหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ( 1) ประกอบมาตรา 1633 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทเพราะจำเลยที่ 2 ได้เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์มีคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการแบ่งที่ดินพิพาทและกำหนดให้โจทก์ได้ปริมาณที่ดินขั้นต่ำหรือเงินขั้นต่ำในกรณีต้องมีการขายทอดตลาดนั้น กรณีนี้เป็นเรื่องทายาททั้งแปดคนมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท สิทธิหน้าที่ของเจ้าของรวมแต่ละคนย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาของศาลจึงต้องกำหนดให้โจทก์ได้ตามเท่าที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เท่านั้น ไม่อาจกำหนดจำนวนที่ดินหรือเงินส่วนแบ่งขั้นต่ำให้แก่โจทก์ได้ตามที่ขอ
พิพากษากลับเป็นว่า ให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในแปดส่วนของที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 28553 ถึง 28556 ตำบลสวนหลวง (บางจาก)อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดก ดำเนินการแบ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากตกลงกันไม่ได้ ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด นำเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 8 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้โจทก์ดำเนินการแทน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท

Share