คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่แรกและต่อมาได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่ปี 2532 และในปี 2534 ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องอีกครั้งหนึ่ง โดยตกลงจะมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอน 5 ปี แม้หนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวในครั้งหลังนี้ มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ได้ความว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแม้เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้วและผู้ร้องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าว ศาลแขวงสุรินทร์ก็พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง คดีถึงที่สุดแล้วผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้น จำเลยที่ 1 ได้ขายให้ผู้ร้องตั้งแต่ปี 2532 และผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และผู้ร้องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลแขวงสุรินทร์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องแล้ว จึงขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองมาตามกฎหมายซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดิน ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงตกเป็นโมฆะ และตามนิติกรรมดังกล่าว ผู้ร้องเป็นเพียงผู้จะซื้อเท่านั้น ดังนั้น ผู้ร้องจึงเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่ยึดไว้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องให้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าเดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 3 งานตั้งอยู่ที่ตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นที่ดินมือเปล่า ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง ปี 2534 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3143 ตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 11 ไร่ 3งาน 91 ตารางวา ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องอีกครั้งหนึ่งในราคา 60,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยทั้งสองจะไปจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอน ต่อมาหลังจากพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว ผู้ร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย วันที่ 29 มีนาคม 2545 ผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลแขวงสุรินทร์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 3143 ให้แก่ผู้ร้อง ศาลแขวงสุรินทร์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน คดีถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือผู้ร้อง เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินพิพาทแต่แรกและต่อมาได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่ปี 2532 และในปี 2534 ได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องอีกครั้งหนึ่งโดยตกลงจะมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอน 5 ปี แม้หนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวในครั้งหลังนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาแม้เมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว และผู้ร้องได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าว ศาลแขวงสุรินทร์ก็พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องคดีถึงที่สุดแล้ว ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share