แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง…” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” ดังนั้น การที่โจทก์ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมเครื่องมือช่างทองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ชำระราคา และโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งต่างเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทองด้วยกัน ทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง โดยจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อขายต่อไปให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ขายสินค้าเพื่อกิจการของจำเลยผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้เองตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องคดีของโจทก์ที่เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายจึงมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/12
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสามบัญญัติเพียงว่า ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยามต้องให้โนตารีปับลิก ฯลฯ เป็นพยาน ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ฉะนั้น แม้ ว. และ ช. ผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นเสียไป โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจำเลยได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้ ฟ. ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่ ฟ. ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ความสัญญาซื้อขายเครื่องจักรอุตสาหกรรมจำนวน 98,813.24 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 4,282,170.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง หรือขอให้นำยอดเงินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยมาหักออกจากจำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องก่อน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่สัญญาเข้าหุ้นส่วน (สามัญไม่จดทะเบียน) โดยโจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทอง วัสดุและอะไหล่ ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นผู้จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่อใช้ผลิตทองรูปพรรณ จำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2540 ครั้งที่สอง เดือนกุมภาพันธ์ 2540 และระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2540 อีก 2 ครั้ง แล้วยังค้างชำระค่าสินค้า 25,050 ดอลลาร์สหรัฐ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ 47,520 ดอลลาร์สหรัฐ และ 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โจทก์หักค่าใช้จ่ายที่จำเลยใช้รับรองตัวแทนของโจทก์ให้จำนวน 2,833 ดอลลาร์สหรัฐ คงค้างชำระรวม 72,656 ดอลลาร์สหรัฐ
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ… เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (1)… (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1)… ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” ดังนั้นการที่โจทก์ขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ชำระราคา และโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ตามมาตรา 193/34 (1) คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การซื้อขายสินค้าดังกล่าวเป็นการที่โจทก์เจ้าหนี้ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยลูกหนี้เอง ตามความตอนท้ายของมาตรานี้อันจะทำให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือช่างทอง ด้วยกัน ทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างกันเอง โดยจำเลยซื้อสินค้าดังกล่าวจากโจทก์เพื่อขายต่อไปให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ขายสินค้าเพื่อกิจการของจำเลยผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกหนี้เอง ตามมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย ฉะนั้น อายุความฟ้องร้องคดีของโจทก์ที่เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายจึงมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามมาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/12 หนี้ค่าสินค้าครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งสั่งซื้อเมื่อเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ครบกำหนดระยะเวลาชำระที่โจทก์ขยายให้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2540 หนี้ค่าสินค้าครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ครบกำหนดชำระในวันที่ 5 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2540 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 6 และวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 หนี้ค่าสินค้าดังกล่าวทั้งหมดจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องนั้นได้ จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นข้อนี้ฟังขึ้น และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 ที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานหลักฐานในประเด็นทั้งสองมาเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้ว และเพื่อมิให้คดีล่าช้า ประกอบกับโจทก์ได้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวมาในอุทธรณ์ด้วยแล้วศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นทั้งสองอีกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 55 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3)
สำหรับประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีนายเอลิเซโอ ดี เมียโอ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ และเป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ มอบอำนาจให้นายวิชัยและหรือนายชัยสิทธิ์ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ และเอกสารแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวปรากฏว่านายเออร์โค ลา ซิวิต้า โนตารีปับลิกในเมืองมิลานประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ลงลายมือชื่อรับรองว่านายเอลิเซโอ ดี เมียโอ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าโนตารีปับลิก ดังนั้น ที่จำเลยให้การว่าในหนังสือมอบอำนาจไม่มีลายมือชื่อของผู้รับมอบอำนาจนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม บัญญัติเพียงว่า ใบมอบอำนาจที่ทำในเมืองต่างประเทศ ที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยามต้องให้โนตารีปับลิก ฯลฯ เป็นพยาน ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ฉะนั้น แม้นายวิชัยและนายชัยสิทธิ์ผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ก็ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ส่วนประเด็นว่า จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า คู่ความสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับ ส่งมอบแก่โจทก์ แล้วโจทก์ไม่นำไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็ค 3 ฉบับเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ หรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้โดยการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในต่างประเทศ จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คในอันที่จะใช้เงินแก่โจทก์ผู้ทรงเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง แต่การชำระหนี้ด้วยการออกเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงิน หนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินนั้นได้ใช้เงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม เมื่อรับกันว่าโจทก์ไม่ได้นำเช็ค 3 ฉบับนี้ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค หนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่ระงับ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายละเลยไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเองก็ตาม อย่างไรก็ดี สำหรับจำนวนเงินค่าสินค้าครั้งหลังสุดจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยนำสืบว่า ได้ชำระแล้วโดยหักจากเงินที่จำเลยสำรองจ่ายให้นายฟรานเชนคอน มาสสิโม ตัวแทนของโจทก์บางส่วนและที่นายฟรานเชนคอนมาสสิโม ให้จำเลยจ่ายค่าโรงแรมไปเป็นเงินรวม 99,177.05 บาท ซึ่งไม่ว่าจะคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาท ตามที่จำเลยต่อสู้ หรือ 43.336 บาท ตามที่โจทก์เรียกก็ครบจำนวนหนี้จำนวนนี้แล้ว โจทก์มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าสินค้าจำนวน 1,219 ดอลลาร์สหรัฐ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยชำระหนี้จำนวนนี้ด้วยการชำระหนี้อย่างอื่นแทนให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไปแล้ว…
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 71,437 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 23,917 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2540 และในต้นเงิน 47,520 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 เมษายน 2545 ต้องไม่เกิน 26,157.24 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีการใช้เงินแต่ทั้งนี้ไม่ให้เกินอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 43.366 บาท ตามที่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท