คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2539/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก ได้กำหนดให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ยันและไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น มิได้เป็นการกำหนดให้นิติกรรมนั้นในส่วนที่เป็นบุคคลสิทธิตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไป นิติกรรมดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมตามฟ้องระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่จำเลยฎีกา ข้อตกลงดังกล่าวก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 47977 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จากหลักเขตที่ดินเลขที่ 4848 ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 5594 กว้าง 3 เมตร ตกเป็นภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 47979 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และถ้าไม่สามารถจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย นายชนินทร์ ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 47977 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร จากหลักเขตที่ดินเลขที่ 4848 ถึงหลักเขตที่ดินเลขที่ 5594 กว้าง 3 เมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 47979 ตำบลบางมด อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่จดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าจำเลยไม่อาจจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นให้โจทก์ได้ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 สิงหาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 200,000 บาท เป็นการฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาระจำยอม ภาระจำยอมซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตกลงกับจำเลยเพื่อให้ได้มาดังกล่าวย่อมอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ใช้ทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะได้อยู่แล้วและจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้แทนในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ซึ่งโจทก์ขอเป็นเงินเพียง 200,000 บาท ย่อมถือได้ว่าคดีนี้เป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งมีทุนทรัพย์ขณะยื่นคำฟ้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามฟ้อง หากจดทะเบียนไม่ได้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 108,000 บาท คดีจึงมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยตามจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่เกิน 200,000 บาท ที่จำเลยฎีกาในปัญหาว่า จำเลยไม่ได้ตกลงให้โจทก์ทั้งสองทำถนนในทางพิพาทโดยจำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอม ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีจำนวนน้อยกว่า 100,000 บาท เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าว เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองถมดินในทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของตนเอง แล้วนำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ทั้งสองถมดินในทางพิพาทโดยจำเลยจะไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมให้จริงหรือไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาอ้าง ฎีกาจำเลยทุกข้อดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมตามฟ้องระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีผลบังคับหรือไม่ จำเลยฎีกาในปัญหานี้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิที่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ยันและไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่สัญญาเท่านั้น มิได้เป็นการกำหนดให้นิติกรรมนั้นในส่วนที่เป็นบุคคลสิทธิตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไป นิติกรรมดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมตามฟ้องระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นข้อตกลงที่มิได้จดทะเบียนไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่จำเลยฎีกาข้อตกลงดังกล่าวก็ใช้บังคับกันได้ในระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share