คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีแพ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักคำพยานว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าอีกฝ่าย แม้จะไม่มีประจักษ์พยานเบิกความก็ไม่ได้หมายความว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงไม่ได้ โจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันที่ถูกบรรทุกชนมีพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์ เบิกความว่าได้ไปตรวจดูร่องรอยในที่เกิดเหตุและสอบถามพนักงานสอบสวนได้ความว่าผู้ขับรถบรรทุกขับรถโดยประมาทล้ำเข้าไปช่องเดินรถของรถยนต์เก๋ง หลังเกิดเหตุผู้ขับรถบรรทุกหลบหนีไป ส่วนจำเลยที่ 1 เจ้าของรถบรรทุกไม่นำสืบหักล้าง และยังทำบันทึกข้อตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายรถยนต์เก๋ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความเพียงว่า ที่ต้องทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เพื่อนำรถบรรทุกออกไปใช้งานและเพื่อนของ ส. คนขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มาขอยืมรถบรรทุกจากบุตรสาวจำเลยที่ 1 ไปขนไม้เพื่อใช้สร้างบ้านนั้นโดยไม่ปรากฏข้อท้วงติงในบันทึกดังกล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือโดยเห็นแก่มนุษยธรรมเพิ่งกล่าวอ้างในภายหลัง จึงฟังได้ว่าผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุขับรถโดยประมาท
ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์เก๋งมีข้อความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถบรรทุกจะซ่อมรถยนต์เก๋งคันที่ผู้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ขับไปชนให้อยู่ในสภาพเดิมข้อตกลงในส่วนนี้ จึงไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงิน วิธีชำระ ตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก และหาได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อความในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งที่เกิดเหตุดังกล่าวจึงยังไม่ระงับ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกชดใช้เงินค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งนั้นเป็นเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเพียงบางส่วนตามความรับผิดในสัญญาประกันภัย ไม่ทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 330,937.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,937.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 1ฮ – 3394 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายวิศิษฐ์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0108 พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายวิศิษฐ์ขับรถยนต์เก๋งคันที่โจทก์รับประกันภัยไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 จากอำเภอบางปะอิน มุ่งหน้าไปอำเภอบางบัวทอง เมื่อไปถึงหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน ได้เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0108 พระนครศรีอยุธยา ที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้นายวิศิษฐ์ถึงแก่ความตาย และรถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยเต็มทุนประกันภัยจำนวน 550,000 บาท ต่อมาภายหลังจากยื่นฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 นำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยจำนวน 250,000 บาท
ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0108 พระนครศรีอยุธยา เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เข้าเจรจากับอีกฝ่ายตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้ตายเพราะเห็นแก่มนุษยธรรมและต้องการนำรถบรรทุกออกไปใช้งาน จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่คู่กรณีแล้วว่า คนที่ขับรถบรรทุกในวันเกิดเหตุเป็นเพื่อนของนายโสรสคนขับรถของจำเลยที่ 1 นำรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ออกไปขับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0108 พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายนายอนุรักษ์ เป็นเงิน 100,000 บาท และหากจำเลยที่ 1 สามารถเบิกเงินจำนวน 40,000 บาท จากบริษัทประกันภัยได้ก็จะนำมามอบให้ฝ่ายนายอนุรักษ์อีก ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ – 3394 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 จะซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิม โจทก์ยังมีรายการทะเบียนรถบรรทุกคันเกิดเหตุระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งตามรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่า มีอาชีพรับจ้างถมดินและไม่นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารหมาย จ.6 ไม่ถูกต้อง แต่กลับฎีกาว่า ที่ต้องทำบันทึกเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เพื่อนำรถบรรทุกออกไปใช้งาน จึงฟังได้ว่า รถบรรทุกคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการค้าและธุรกิจของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเวลากลางวัน มีผู้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ไปจนเกิดเหตุคดีนี้ พฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบซึ่งคงมีแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยที่ 1 ว่า เพื่อนของนายโสรส คนขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มาขอยืมรถบรรทุกจากบุตรสาวจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่บ้านคนเดียวไปขนไม้ 1 เที่ยว เพื่อใช้สร้างบ้านนั้น มีน้ำหนักน้อย หากผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ต่อหน้าพนักงานสอบสวนยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายผู้ตาย โดยไม่ปรากฏข้อท้วงติงในบันทึกดังกล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือโดยเห็นแก่มนุษยธรรมและผู้ขับรถบรรทุกไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 เพิ่งกล่าวอ้างในภายหลัง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 0108 พระนครศรีอยุธยา เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ขับรถโดยประมาทหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความให้ศาลรับฟังได้นั้น เห็นว่า ในคดีแพ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักคำพยานว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใด มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าอีกฝ่าย แม้จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความก็ไม่ได้หมายความว่า ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงไม่ได้ คดีนี้ โจทก์มีนายทวีธรรม พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์ เบิกความว่า ได้ไปตรวจดูร่องรอยในที่เกิดเหตุและสอบถามพนักงานสอบสวนได้ความว่า ผู้ขับรถบรรทุกขับรถโดยประมาทล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์เก๋ง หลังเกิดเหตุผู้ขับรถบรรทุกหลบหนีไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้าง และยังทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายรถยนต์เก๋ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุขับรถโดยประมาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เมื่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท เป็นค่าเสียหายหรือค่าซ่อมรถยนต์เก๋งให้แก่ผู้เสียหายหรือญาติผู้ตายแล้วมูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุ มีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ – 3394 กรุงเทพมหานคร ให้อยู่ในสภาพเดิม ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงิน วิธีชำระ ตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก และหาได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อความในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์ที่เกิดเหตุจึงยังไม่ระงับ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยชดใช้เงินค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งนั้นเป็นเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเพียงบางส่วนตามความรับผิดในสัญญาประกันภัยไม่ทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share