คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ให้รับผิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2เป็นเงิน 10,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 เป็นการไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่า กันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และ ส. คนขับรถของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ต่างขับรถยนต์ชนกันโดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ต้องรับผิด ต่อ กันจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลย ที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2ผู้ครอบครองและเจ้าของรถยนต์ที่ชนกับรถยนต์ คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย และเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวด้วย การชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ฎีกาก็ให้มี ผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย.

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษากับคดีหมายเลขแดงที่10919/2529 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-9014 กรุงเทพมหานครและโจทก์ที่ 2 ได้ขายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะได้กรรมสิทธิ์ แต่ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ยังชำระราคาให้แก่โจทก์ที่ 2ไม่ครบ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6631 ชลบุรี จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6631 ชลบุรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6631 ชลบุรี ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นตามถนนสายบางนา-ตราด จากจังหวัดชลบุรี มุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร ด้วยความเร็วสูงด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อจะสวนทางกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-9014กรุงเทพมหานคร มี ส.เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 ไม่ชะลอความเร็วและขับชิดซ้าย แต่ขับด้วยความเร็วสูง และแล่นล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถรถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-9014 กรุงเทพมหานครอย่างกะทันหันจึงชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-9014กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-9014กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ ค่ายกรถ ค่าขาดประโยชน์ ค่าเสื่อมราคา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 98,242 บาท และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-9014 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6631 ชลบุรี และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6631 ชลบุรีไปตามถนนบางนา-ตราดจากจังหวัดชลบุรีมุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงที่เกิดเหตุส.ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-9014 กรุงเทพมหานครแล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงและแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 โดยขับแซงรถยนต์คันอื่นและไม่ให้สัญญาณการแซง และแซงรถในที่คับขัน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่ ส.ขับพุ่งเข้าเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับความเสียหาย เหตุจึงเกิดจากความประมาทของ ส.แต่ฝ่ายเดียว โจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งคดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ 10919/2529 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 73,250 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 10919/2529
จำเลยที่ 3 ฎีกาเฉพาะคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน20,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ดังนั้นจำเลยที่ 3 ฎีกาเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าเหตุรถยนต์ชนกันในคดีนี้ทั้งจำเลยที่ 1 และ ส. ต่างขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างฝ่ายประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อกัน จำเลยที่ 3ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับจึงไม่ต้องรับผิดแต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ฎีกาก็ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง.

Share