คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 958/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อัยการศาลทหารเคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลทหารมาครั้งหนึ่งแล้วศาลทหารเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน จะฟ้องต่อศาลทหารมิได้จึงพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยถึงความผิดที่ฟ้องนั้นแต่ประการใดดังนี้ พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลพลเรือนด้วยข้อหาเดียวกันนั้นอีกได้ ไม่เป็นการฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ และในการปล้นนี้จำเลยกับพวกยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,289,80 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288,80 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงว่า จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 340,83 อีกบทหนึ่ง จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์จริง และในการปล้นนี้คนร้ายที่ร่วมปล้นคนหนึ่งได้ยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วยอันเป็นความผิดหลายบทคือมาตรา 340 วรรคสี่กับมาตรา 289(6)(7),80แต่ความผิดฐานพยายามฆ่านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามมาตรา 288,80 และโจทก์เห็นว่าชอบ มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 289,80 ศาลฎีกาจึงลงโทษได้เพียงตามมาตราที่ศาลชั้นต้นวางบทมาและเมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลย ศาลฎีกาย่อมพิพากษาแก้เฉพาะส่วนนี้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้กับจำเลยในคดีอาญาแดงที่ 1526/2514และที่ 224/2515 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี กับพวกที่ยังหลบหนีอีก2 คนใช้ปืนเป็นอาวุธร่วมกันปล้นทรัพย์ไก่ 11 ตัว ราคา 110 บาทของนายหลีโค้ แซ่ลี้ ในการปล้นทรัพย์นี้ จำเลยกับพวกได้ใช้ปืนยิงนายหลีโค้บาดเจ็บ ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่านายหลีโค้ เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาเอาทรัพย์ไป และให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 289, 80, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ข้อ 9 ฉบับที่ 11 ข้อ 14 กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาไก่ 110 บาท แก่เจ้าทรัพย์ด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธและเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยเคยถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้ต่อศาลทหารกรุงเทพ (ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี) และศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 53จำคุกจำเลย 15 ปี จำเลยมิได้กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ไม่ได้

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์อนุญาตแล้ว

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83อีกบทหนึ่ง ให้จำเลยร่วมกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1526/2514 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี คืนหรือใช้ราคาทรัพย์110 บาทแก่เจ้าทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเคยถูกอัยการศาลทหารกรุงเทพ(พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี) ฟ้องต่อศาลทหารดังกล่าวในข้อหาเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 408/2516แต่คดีดังกล่าวศาลทหารฯ ยังมิได้วินิจฉัยถึงความผิดที่โจทก์ฟ้องแต่ประการใด ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน โจทก์จึงฟ้องต่อศาลทหารมิได้เท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดนั้นต่อศาลพลเรือนอีก จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับพวกอีก 4 คน ปล้นทรัพย์ไก่ 11ตัวของนายหลีโค้ไปจริง โดยในการปล้นทรัพย์ครั้งนี้นายเวะคนร้ายที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลยด้วยผู้หนึ่งได้ใช้ปืนยิงนายหลีโค้เจ้าทรัพย์ เพราะเจ้าทรัพย์ไปเห็นคนร้าย ขณะกำลังอยู่ในเล้าไก่ จึงแสดงว่าเป็นการยิงเจ้าทรัพย์เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์และเพื่อเอาทรัพย์ไปการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยกับพวกเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คือปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่ และฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 289(6)(7), 80แต่เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมาเพียงผิดมาตรา 288 และโจทก์เห็นว่าชอบและมิได้อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษตามมาตรา 289, 80 ฉะนั้นจึงลงโทษจำเลยได้เพียงตามที่ศาลชั้นต้นวางบทมา เมื่อการกระทำของจำเลยกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ เมื่อความผิดตามมาตรา 288เป็นความผิดเพียงฐานพยายาม จึงต้องถือว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ปืนยิงตามมาตรา 340 วรรคสี่ เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า และโดยที่หลังจากจำเลยกระทำความผิดแล้ว ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 แก้ไขโทษที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 340 วรรคสี่ เบากว่าโทษที่กำหนดไว้เดิม จึงต้องใช้มาตรา 340 วรรคสี่ ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวลงโทษจำเลยทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อีกบทหนึ่ง ให้ลงโทษตามบทกฎหมายที่กล่าวนี้ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share