แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ได้เรียกชื่อว่าสัญญารับสภาพหนี้ก็ตาม แต่มูลกรณีในสัญญานั้นเป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5ทำความตกลงกันกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ถูกโจทก์กล่าวหาว่าทำละเมิดต่อโจทก์ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ยอมชดใช้เงินค่าเสียหายในมูลละเมิด กับให้ผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน ดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นจากมูลละเมิดนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา 850 หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับโจทก์แล้วเช่นนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในมูลละเมิดก็ระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้รับผิดในมูลละเมิดอีกหาได้ไม่
ในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาซื้อขายนั้น นอกจากสัญญาข้อ 10 ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาแล้ว ในข้อ 9ของสัญญาดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเสียเบี้ยปรับอีกด้วย โดยระบุว่า ถ้าผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีที่เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้ว ผู้ขายส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบจำนวน ซึ่งในสัญญาซื้อขายก็ไม่ได้มีการตกลงยกเว้นไว้เลยว่า หากผู้ซื้อไม่แจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับแก่ผู้ขายแล้วผู้ซื้อจะหมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับ ดังนั้นเมื่อผู้ขายตามสัญญารายนี้ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน และผู้ซื้อได้รับมอบสิ่งของบางส่วนนั้นไว้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการรับชำระหนี้อันจะต้องแจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับ ไม่เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายตามสัญญาดังกล่าว
ป.พ.พ.มาตรา 381 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น”เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้วและเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ไว้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการชำระหนี้บางส่วนหรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อของโจทก์รับชำระหนี้ไว้โดยไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับไปยังผู้ขาย จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 กระทำละเมิดแก่โจทก์