แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โดยปกติกระบวนพิจารณาใดที่ศาลได้สั่งไปแล้ว ต่อมาเห็นว่ายังไม่เหมาะสมเพื่อให้การพิจารณาได้ดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและเหมาะสม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ แล้วสั่งใหม่ตามที่เห็นควร ในกรณีที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ว่าความอย่างคนอนาถา ในระหว่างพิจารณาปรากฎว่าโจทก์มีทรัพย์สินที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้ศาลก็มีอำนาจสั่งให้โจทก์นำเงินค่าธรรมเนียมมาเสีย คำสั่งเช่นนี้ ถือเท่ากับศาลได้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ว่าความอย่างคนอนาถาเสียแล้ว โจทก์จึงต้องอุทธรณ์คำสั่งนี้ภายในกำหนด 7 วัน
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา ต่อมาเมื่อสืบตัวโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มีบ้านราคา ๓๐,๐๐๐ บาท กับมีผลประโยชน์จากที่ดินที่ฟ้องด้วย โจทก์ไม่อนาถา จึงให้นำค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระ ครั้นถึงกำหนดโจทก์แถลงว่าไม่มีเงินจะเสีย ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ไม่อุทธรณ์เรื่องอนาถาใน ๗ วัน ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์สั่งให้รับ แล้วพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๑๕๖ ในการที่ศาลจะอนุญาตให้ว่าความอย่างคนอนาถานั้น ศาลจะยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ทั้งหมดหรือแต่เฉพาะบางส่วนก็ได้ และโดยปกติกระบวนพิจารณาใดที่ศาลสั่งไปแล้ว ต่อมาเห็นว่ายังไม่เหมาะสมแก่การที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นนั้นต่อไป เพื่อให้การพิจารณาได้ดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและเหมาะสม ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ แล้วสั่งใหม่ตามที่เห็นควร เช่นในกรณีที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ว่าความอย่างคนอนาถานี้ ในระหว่างพิจารณาปรากฎว่าโจทก์มีทรัพย์สินที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้ แม้บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๙ ให้อำนาจศาลยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุดได้ก็ตาม ก็หาใช่ว่าศาลจะต้องสั่งดังนั้นเสมอไปไม่ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นได้ตามที่เห็นเป็นการเหมาะสม ที่มีมาตรา ๑๕๙ ไว้ ก็เพื่อให้อำนาจแก่ศาลที่สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ที่ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถาได้ มิได้หมายความว่า ศาลจะมีอำนาจเพียงเท่านี้ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำเงินค่าธรรมเนียมมาเสียจึงเป็นอำนาจศาลที่จะสั่งได้ และเมื่อมีคำสั่งดังนี้แล้ว ก็ย่อมถือได้เท่ากับศาลได้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ว่าความอย่างคนอนาถาเสียแล้ว มีผลเท่ากับไม่อนุญาตให้โจทก์ว่าความอย่างคนอนาถา ถ้าโจทก์เห็นว่าโจทก์ควรจะได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาต่อไป โจทก์ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้โจทก์นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระนั้นภายในกำหนด ๗ วันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๖ วรรค ๕ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ภายใน ๗ วัน คำสั่งนั้นก็ถึงที่สุดซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติ กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๔ (๒) ศาลสั่งจำหน่ายคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๒ (๑)
พิพากษายืน