คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตัวจำเลยไม่ได้รับทราบคำบังคับเองแต่ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าทราบคำบังคับแล้ว ก็บังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าศาลแพ่งได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยให้จำเลยทั้งสามรับผิดใช้เงินให้โจทก์ ได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2497 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา โดยมีนายประเทือง เขียวพงษ์ ผู้รับมอบฉันทะจากทนายของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาฟังคำพิพากษาแทน วันที่ 22 มีนาคม 2497 จำเลยที่ 1 และ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีศาลแพ่งสั่งรับอุทธรณ์ แต่มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีเสียโดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-3 ยัง ไม่ได้รับทราบคำบังคับคดี วันที่ 25 มีนาคม 2497 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่า จำเลยยังไม่ทราบคำบังคับ ขอให้ศาลส่งคำบังคับให้จำเลย และต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2497 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไปต่างประเทศ การส่งคำบังคับไม่สะดวกจึงขอให้ส่งคำบังคับให้นายธรรมนูญ ทนายจำเลยที่ 1 และ 3 ศาลแพ่งสั่งอนุญาตให้ส่งตามขอ ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2497 นายธรรมนูญทนายจำเลยที่ 1 และ 3 ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า วันที่ 9 มิถุนายนนี้ เจ้าพนักงานกองหมายได้เอาคำบังคับส่งแก่นายธรรมนูญเพื่อให้รับแทนจำเลย นายธรรมนูญมิได้รับคำบังคับนั้นไว้ เจ้าพนักงานได้วางคำบังคับไว้ที่สำนักงานของนายธรรมนูญ เหตุที่นายธรรมนูญไม่รับคำบังคับแทนจำเลยที่ 1 และ 3 ก็โดยมีเหตุจำเป็นหลายประการอาทิ เป็นคำบังคับเกี่ยวกับเงินจำนวนมาก จำเลยที่ 1 อยู่ต่างประเทศและจำเลยที่ 3 ก็ไม่ใคร่มาติดต่อ หากรับไว้แทน และส่งให้จำเลยไม่ได้หรือล่าช้าไปจะเสียหาย จึงขอส่งคำบังคับคืนเพื่อให้ส่งแก่จำเลยโดยตรง ศาลแพ่งสั่งว่าให้โจทก์ทราบ ครั้นต่อมาวันที่26 กรกฎาคม 2497 โจทก์ได้ยื่นคำขอต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 และ 3ได้ทราบคำบังคับแล้ว ยังไม่นำเงินมาชำระตามคำพิพากษา จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำเลยศาลแพ่งมีคำสั่งให้จัดการให้

วันที่ 14 สิงหาคม 2497 จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2497 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานกองหมายยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 เพิ่งรู้เรื่องการที่โจทก์นำส่งคำบังคับให้แก่ทนาย และทนายได้เอาคำบังคับมาคืนศาล เมื่อจำเลยที่ 3 ถูกยึดทรัพย์แล้วนี้ จำเลยเห็นว่าการส่งคำบังคับจะต้องส่งให้แก่ตัวจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ หาใช่ส่งให้แก่ทนายไม่ ทั้งคดีนี้ทนายก็คืนคำบังคับไปแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ยังไม่ทราบคำบังคับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจจะไปยึดทรัพย์ของจำเลยได้ขอให้สั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เสียศาลแพ่งมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยที่ 3 นี้ว่า ตามสำนวนถือว่าจำเลยได้รับคำบังคับโดยชอบแล้ว จึงให้ยกคำร้องเสีย

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้ปรากฏตามสำนวนว่าศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2497 จำเลยที่ 3 ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา แต่นายสมจิตร สุขสงวน ทนายของจำเลยที่ 3 ได้มอบฉันทะให้นายประเทือง เขียวพงษ์ มาฟังคำพิพากษาแทน ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2497 นั้นเอง นายประเทือง เขียวพงษ์ ได้ลงชื่อไว้ที่หน้าสำนวนรับทราบการอ่านคำพิพากษาและคำบังคับคดีของศาลแพ่ง ซึ่งบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาใน 1 เดือน การที่นายประเทือง เขียวพงษ์ ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 272 วรรคท้ายถือได้ว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 3 จะมาเถียงในชั้นนี้ว่ายังไม่ได้ทราบคำบังคับของศาล ย่อมฟังไม่ขึ้นศาลแพ่งสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 เสียนั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏในเรื่องนี้ดังได้กล่าวมา พอให้ฟังได้แล้วว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับคดีของศาลชั้นต้นในคดีนี้ กล่าวคือนอกจากเหตุอื่น ๆ แล้ว ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลชั้นต้นไว้ ตามคำร้องลงวันที่ 22 มีนาคม 2497 เป็นการแสดงอยู่ว่าจำเลยได้ทราบคำบังคับคดีแล้วฎีกาจำเลยเป็นเรื่องประวิง ทำให้ยุ่งยาก จึงพิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายชั้นนี้เป็นพับ

Share