คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในค่าสินค้าที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านแทนจำเลยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือจากผู้คัดค้าน โดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2540 จำเลยได้ทดลองเดินเครื่องจักรให้ผู้คัดค้านตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายแล้วและขอให้ศาลแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือตามหมายอายัดมายังศาล ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวที่สั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) และโจทก์ก็ได้ดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าสินค้าแก่ผู้คัดค้านแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 252,450 บาท กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 126,225 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และเงินรางวัลการขายเป็นเงิน 380,920 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 พฤษภาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยมีต่อผู้คัดค้านเป็นเงิน 954,810 บาท ไปยังผู้คัดค้านเพื่อให้ผู้คัดค้านส่งเงินมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนสิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของโจทก์และเพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้าน
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามคำสั่งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีถึงผู้คัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านขาดอายุความหรือไม่ แล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาใหม่แล้ววินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านไม่ขาดอายุความ มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามคำสั่งอายัดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีถึงผู้คัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า ผู้คัดค้านได้ตกลงซื้อเครื่องผลิตพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดกลวงจากจำเลยในราคา 572,279,200 ลีร์อิตาลี คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,100,000 บาท โดยจะชำระเงินส่วนที่เหลืองวดสุดท้าย คือ งวดที่ 3 จำนวนร้อยละ 10 ของราคา เมื่อแสดงหนังสือรับรองการเดินเครื่องจักรจากผู้คัดค้านซึ่งผู้คัดค้านยังมิได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีฉุกเฉินขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าสินค้าดังกล่าวจำนวน 760,000 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งในวันเดียวกันให้อายัดและออกหมายอายัดชั่วคราวแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินจำนวนดังกล่าวมายังศาล โดยผู้คัดค้านได้รับหมายอายัดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 แต่ผู้คัดค้านปฏิเสธการส่งเงินตามหมายอายัดอ้างว่า ผู้คัดค้านมีข้อตกลงกับจำเลยว่าผู้คัดค้านจะจ่ายเงินค่าสินค้างวดที่ 3 เมื่อจำเลยได้ดำเนินการทดลองเดินเครื่องจักรเป็นที่เรียบร้อย แต่จำเลยยังไม่ทดลองการเดินเครื่องจักรตามข้อตกลง ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2540 โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามคำสั่งอายัดเพราะจำเลยได้ทดลองเดินเครื่องจักรให้ผู้คัดค้านแล้ว วันที่ 13 สิงหาคม 2540 ศาลมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามหมายอายัดตามคำร้องของโจทก์วันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามหมายอายัด ผู้คัดค้านได้รับเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2540 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนคำสั่งอายัด ศาลพิจารณาแล้วยกคำร้องของผู้คัดค้าน ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านได้รับมอบสินค้าจากจำเลย เมื่อผู้คัดค้านและจำเลยได้ทดลองเดินเครื่องจักรตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 สิทธิเรียกร้องเงินค่าสินค้าของจำเลยที่มีต่อผู้คัดค้านจึงเริ่มแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 เมื่อจำเลยมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนี้ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) และโจทก์เพิ่งขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านในวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องที่เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันรับมอบสินค้า ย่อมขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในค่าสินค้าที่มีอยู่ต่อผู้คัดค้านแทนจำเลยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2540 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือ โดยโจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2540 จำเลยได้ทดลองเดินเครื่องจักรให้ผู้คัดค้านแล้ว และขอให้ศาลแจ้งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามหมายอายัดมายังศาล ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ให้โจทก์ชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวที่สั่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ย่อมมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) และโจทก์ก็ได้ดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าสินค้าดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านแล้วเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ส่วนที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า เดิมโจทก์ขอให้อายัดชั่วคราวเป็นเงิน 760,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเป็นเงิน 954,810 บาท โดยนำยอดหนี้ของจำเลยทั้งหมดให้ผู้คัดค้านรับผิดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยนั้น เห็นว่า ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขออายัดเงินจำนวน 954,810 บาทนั้น เป็นการดำเนินการตามคำสั่งยึดอายัดของศาลแรงงานกลางเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา อีกทั้งสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีอยู่แก่ผู้คัดค้านคือค่าสินค้าในงวดที่ 3 จำนวนร้อยละ 10 ของราคา เมื่อคิดคำนวณเป็นจำนวนเท่าไรหากไม่ถึงจำนวนที่อายัด ผู้คัดค้านก็รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าวอยู่แล้ว ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่อุทธรณ์มา ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share