คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่ฎีกาได้ แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายส่วนข้อเท็จจริงศาลฎีกาต้องถือตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น ถ้าข้อเท็จจริงเท่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังมายังไม่พอศาลฎีกาหยิบยกข้อเท็จจริงอย่างอื่นขึ้นพิจารณาประกอบด้วยได้
ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2485 มาตรา 4 แสดงว่า ที่ดินซึ่งรัฐบาลจะจัดตั้งนิคมสร้างตนเองได้นั้น พึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเล่ายังไม่มีผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำกินอยู่ก่อน ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดิน 25 ไร่นี้ จำเลย(ซึ่งเป็นสมาชิกของนิคมฯ) ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนทางราชการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรี และที่ดินรายนี้ไม่ใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเสียแล้วในขณะพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี พ.ศ.2485 ออกตามอำนาจในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2485 ใช้บังคับ(ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 934/2505) เช่นนี้ จะนำกฎหมายหรือข้อบังคับว่าด้วยการเข้าอยู่ในที่ดินจัดสรรของนิคมฯ มาใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งที่ผู้ปกครองนิคมฯ ออกประกาศถอนสิทธิให้จำเลยออกไปจากที่ดินจัดสรรของนิคมฯมาใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งที่ผุ้ปกครองนิคมฯ ออกประกาศถอนสิทธิให้จำเลยออกไปจากที่ดิไม่มีผลแก่จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศคำสั่งนั้น ก็จะเอาผิดแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เข้าทำกินและเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลพบุรี เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ครั้นวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ผู้ปกครองนิคมเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ออกหนังสือประกาศถอนสิทธิ์ของจำเลยออกจากการเป็นสมาชิกและให้ถอนตัวออกไปจากนิคมภายใน ๖๐ วัน เนื่องจากจำเลยฝ่าฝืนข้อบังคับของนิคมโดยโอนสิทธิครอบครองที่ดินให้คนอื่นก่อนได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยสมบูรณ์ และเปลี่ยนมือให้ผู้อื่นทำประโยชน์ จำเลยทราบคำสั่งแล้ว บังอาจไม่ยอมถอนตัวออกไป อันเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ขอให้ลงโทษจากพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ ข้อบังคับนิคมสร้างตนเอง ฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๔๘๖ ข้อ ๔,๕(๒)(๔)(๑๓) ข้อ๖(๘) ข้อ๑๑(๑) ข้อ ๑๓(๑)(๓)
จำเลยให้การว่า ประมาณ ๒๐ ปีแล้ว จำเลยได้รับรองที่ดิน ๒๕ ไร่ หักร้างถางป่าตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและประกอบอาชีพกสิกรรมจนเป็นที่เตียนทั้งหมด ได้ปลูกโรงเก็บสินค้า โรงปศุสัตว์และโรงคนงาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๙๕ จำเลยเข้าเป็นสมาชิกของนิคม ทางนิคมให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ได้ปลูกสร้างเพิ่มเติมจนกลายเป็นตลาดการค้า ชื่อ”ตลาดลำนารายน์” ต่อมาทางอำเภอไชยบาดาลให้รื้อสิ่งปลูกสร้าง มิฉะนั้นต้องเช่าที่ดินต่ออำเภอ จำเลยไม่ยอม ผู้ปกครองนิคมจึงได้ออกประกาศถอนสิทธิของจำเลยให้ถอนตัวออกจากที่ดิน จำเลยไม่เคยฝ่าฝืนข้อบังคับของนิคม และไม่ได้รับคำสั่งของผู้ปกครองนิคม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินมา ๒๐ ปีแล้ว ได้ใช้ที่ดินปลูกสร้างห้องแถวและตลาด แต่ไม่เต็ม ๒๕ ไร จำเลยเป็นสมาชิกของนิคม ต่อมาจำเลยขายที่ดินบางส่วนให้ผู้อื่นฝ่าฝืนข้อบังคับ จำเลยทราบคำสั่งของผู้ปกครองนิคมแล้ว ไม่ยอมถอนตัวอกไปในกำหนด พิพากษาว่า จำเลยผิดตาม พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๑ จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอการลงโทษ ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยยอมให้ผู้อื่นหาผลประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนข้อบังคับข้อ ๑๓(๓) พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงศาลฎีกาต้องถือตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา แต่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพียงว่า จำเลยเป็นสมาชิกของนิคมฯ จำเลยได้ปฏิบัติการฝ่าฝืนข้อบังคับของนิคมฯ โดยการยอมให้คนอื่นเข้ามาทำการหาประโยชน์ในที่ดินนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองนิคมก่อน ผิดต่อข้อบังคับของนิคมฯ ข้อ ๑๓(๓) และเจ้าหน้าที่ได้สั่งให้จำเลยออกจากนิคมแล้ว จำเลยขัดคำสั่งไม่ยอมออกไป ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงเท่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานี้ยังไม่พอ ศาลฎีกาจึงหยิบยกข้อเท็จจริงอย่างอื่นขึ้นพิจารณาประกอบด้วย เพราะคดีนี้เป็นคดีอาญา และจำเลยให้การต่อสู้ไว้มีปัญหาที่จะพึงวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าที่ดินรายพิพาทนี้เป็นที่ดินซึ่งนิคมฯจัดสรรให้แก่จำเลยเข้าอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกหรือที่ดินซึ่งจำเลยครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการจัดตั้งนิคมฯ เมื่อพ.ศ.๒๕๘๕
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี พ.ศ.๒๔๘๕ นี้ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่ง พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๔๘๕ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะจัดตั้งนิคมแห่งนี้ ตามมาตรา ๔ มีว่า”ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดตั้งนิคมในลักษณะและรูปใด ๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่ดินเคหสถานประกอบการอาชีพเป็นหลักแหล่งในเขตที่ดินที่ได้หวงห้ามไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างเปล่าจัดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ดังนี้แสดงว่า ที่ดินซึ่งรัฐบาลจะจัดตั้งนิคมฯได้นั้น พึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ายังไม่มีผู้ใดเข้ายึดถือครองครองทำกินอยู่ก่อน จำเลยนำสืบฟังได้ว่าที่ดินแห่งนี้พัฒนาเป็นลำดับมาจนกลายเป็นทำเลย่านตลาดการค้า เรียกว่า ตลาดลำนารายน์ ในอำเภอไชยบาดาลไปแล้ว การที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ปกครองนิคม ก็โดยจำเลยถือว่าทีรายนี้เป็ฯของจำเลยจับจองครอบครองมา หาใช่จำเลยเข้ามาอยู่โดยอาศัยสิทธิในฐานะสมาชิกเมื่อกรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งนิคมฯขึ้นไม่ การที่จำเลยเข้าเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองเป็นเพราะเหตุใดก็ตามที ย่อมไม่ลบล้างความจริงที่ว่า จำเลยใช้สิทธิเข้าครอบครองทำกินในที่รายนี้มาก่อนนั้นได้
จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่าที่นั้นเป็นของจำเลยถือสิทธิครอบครองมาโดยชอบแต่ดั้งเดิม หาใช่ได้รับส่วนแบ่งในฐานะเป็นสมาชิกของนิคมฯ ในพ.ศ.๒๕๘๙ ไม่ ที่จำเลยอนุญาตให้เอกชนและบริษัทเเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่รายนี้บางส่วนก็โดยจำเลยถือว่าเป็นที่ดินของจำเลย ซึ่งจำเลยมีอำนาจจะจัดการแก่ทรัพย์สินของตนได้โดยชอบนี่นเองจึงเป็นอันฟังได้ว่าที่ดิน ๒๕ ไร่นี้ จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อนทางราชการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรี และที่ดินรายนี้ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าเสียแล้วในขณะที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีพ.ศ.๒๔๘๕ อันออกตามอำนาจใน พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๔๘๕ ออกใช้บังคับตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๔/๒๕๐๕ เช่นนี้ จะนำกฎหมายหรือข้อบังคับว่าด้วยการเข้าอยู่ในที่ดินจัดสรรนิคมสร้างตนเองมาใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งที่ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองอกประกาศถอนสิทธิให้จำเลยออกไปจากที่ดินไม่มีผลแก่จำเลย โดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น แม้จำเลยจะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศคำสั่งนั้น ก็จะเอาผิดแก่จำเลยตามกฎหมายที่โจทก์อ้างหาได้ไม่ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share