คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 36,969,329.07 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ดำเนินการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินค่าเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4313, 4314, 5479, 6798, 112468, 112469, 126017 และ 126018 ตำบลแสมดำ (บางบอน) อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จำนวน 3,767.54 ตารางวา ที่จำเลยที่ 2 มีต่อผู้ร้อง ผู้ร้องได้ส่งเงินค่าเช่าให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายและจ่ายเงินที่อายัดมาทั้งหมดให้โจทก์ไปรวม 7 ครั้ง แล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของตนทั้ง 8 แปลง ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เช่าด้วย สิทธิในการรับเงินค่าเช่าของจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดลง ขอให้เพิกถอนการอายัดและให้โจทก์คืนเงินค่าเช่าที่รับเกินไปจำนวน 527,456 บาท แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินค่าเช่าและทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่าย และได้จ่ายเงินให้โจทก์ไปรวม 7 ครั้ง โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ร้องและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการอายัด ผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงว่า ได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายและได้จ่ายเงินที่อายัดมาทั้งหมดให้โจทก์ไปรวม 7 ครั้ง เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เงินจำนวน 527,456 บาท ที่ผู้ร้องขอคืนคือ เงินค่าเช่าของเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2553
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการอายัด ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน 8 แปลง ตามคำร้อง ผู้ร้องเป็นผู้เช่าที่ดินโดยจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 30 ปี และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ต่อมาจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 จำนวน 2 แปลง วันที่ 14 ธันวาคม 2552 จำนวน 1 แปลง และวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จำนวน 5 แปลง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลาหรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งและเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนการอายัดเงินค่าเช่าที่ดินหรือไม่ เห็นว่า กรณีตามคำร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน มิได้อายัดที่ดิน จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share